หมาตายซาก หรือ หงอนไก่
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cnestis palala (Lour.) Merr.
ชื่อพ้อง C. ramiflora Griff., Thysanus palala Lour.
วงศ์ Connaraceae
ชื่ออื่น ๆ มะตายวาย มะสักหลาด กะลิงปริงป่า มะตายทากลาก หมาตายไม่ต้องลาก หงอนไก่ป่า หงอนไก่หนวย หมาแดง
ลักษณะของพืช ไม้พุ่มเลื้อยพาดพันต้นไม้อื่น ยาวได้ถึง 10 เมตร กิ่งมีขนนุ่มหนาแน่น ผิวใบเรียบหรือมีขนสั้น ๆ ที่เส้นใบ ดอกช่อ ออกเป็นกระจุกที่ซอกใบหรือกิ่ง กลีบดอกสีเหลืองอ่อน ผลเป็นฝักตรง เมล็ดรูปวงรี ครึ่งหนึ่งสีดำ อีกครึ่งหนึ่งสีเหลืองนวล
ส่วนที่เป็นพิษ เมล็ด ลำต้นและราก
สารพิษที่พบ เมล็ดประกอบด้วยสารกลุ่มโปรตีด (proteids) ได้แก่ แอล-เมทิโอนีน ซัลโฟซิมีน (L-methionine sulfoximine) นอกจากนี้ยังพบสารดังกล่าวในลำต้นและราก
อาการพิษ ความรุนแรงของพิษจากเมล็ดหงอนไก่ ขึ้นกับขนาดที่รับประทาน ขนาดรับประทาน 20 เมล็ด มีอาการรุนแรงมาก ได้แก่ อาการชักเกร็ง กระตุก ตาค้าง ปัสสาวะราด หลังจากการชักจะไม่รู้ตัว รับประทาน 7-10 เมล็ด มีอาการเวียนศีรษะ ตาลาย คลื่นไส้อาเจียน รับประทาน 1/2-3 เมล็ด มีอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ ไม่อาเจียน บางราย ปวดท้องและบางรายไม่มีอาการ
ตัวอย่างผู้ป่วย เด็กไทยอายุ 9-14 ปี จำนวน 13 คน รับประทานเมล็ดหงอนไก่หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า เมล็ดเบื่อหมา หลังจากนั้นประมาณ 10 กว่าชั่วโมง ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ในจำนวนนี้ 4 ราย ต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล
การรักษา สังเกตอาการและวัดอัตราการเต้นของหัวใจ จำนวนครั้งของการหายใจ เจาะเลือดตรวจค่าอิเลกโตรไลท์ ให้น้ำเกลือและฉีดยาไดอะซีแพม (diazepam) ทางหลอดเลือดดำ ในรายที่มีอาการชักร่วมด้วย และนอนรักษาที่โรงพยาบาล กรณีที่รับประทานเมล็ดจำนวนน้อย ควรสังเกตอาการก่อนถ้าไม่พบอาการ จึงให้กลับบ้านได้
บรรณานุกรม - วงศ์สถิตย์ ฉั่วกุล พร้อมจิต ศรลัมพ์ วิชิต เปาอิล รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล. สมุนไพรพื้น บ้านล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด, 2539: หน้า 75.
- วีณา จิรัจฉริยากูล (บรรณาธิการ). จุลสารข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 2544;18(2):18-20.
- ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์. ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม. กรุงเทพมหานคร: บริษัทประชาชน จำกัด, 2544.
- Murakoshi I, Sekine T, Maeshima K, et al. Absolute configuration of L-methionine sulfoximine as a toxic principle in Cnestis palala (Lour.) Merr. Chem Pharm Bull 1993;41(2):388-90.