มะกล่ำตาหนู
ชื่อวิทยาศาสตร์ Abrus precatorius L.
วงศ์ Euphorbiaceae
ชื่ออื่น ๆ กล่ำเครือ กล่ำตาไก่ มะกล่ำเครือมะแค็ก ไม้ไฟ มะกล่ำแดง เกมกรอม ชะเอมเทศตากล่ำมะขามเถา Rosary Pea, Crab’s eye, Precatory bean, Jequirity bean, American pea, Wild licorice
ลักษณะของพืช ไม้เถาขนาดเล็ก เถากลมเล็กเรียว ใบประกอบขนนก เหมือนใบมะขาม ดอกเล็กสีขาวหรือสีม่วงแดงเหมือนดอกถั่ว เป็นช่อเล็ก ฝักแบนยาวโค้งเล็กน้อยเท่าฝักถั่วเขียว ฝักอ่อนมีสีเขียว จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อแก่ ภายในฝักมีเมล็ด 4-8 เมล็ด เมล็ดกลมรีเล็กน้อย สีแดงสดที่ขั้วเป็นสีดำ ผิวมันเงา เมล็ดมีพิษมาก ขึ้นตามที่รกร้างริมรั้วทั่วไป
ส่วนที่เป็นพิษ เมล็ด
สารพิษที่พบ สารกลุ่ม toxalbumin (abrin)
อาการพิษ ผู้ป่วยที่กลืนเมล็ดมะกล่ำตาหนูจะมีช่วงระยะแฝงหรือภาวะที่อาการพิษยังไม่แสดง(latent period) ระหว่าง 2-3 ชั่วโมง ถึง 2-3 วัน จากนั้นพิษของมะกล่ำตาหนูจะทำให้เกิดผลต่อระบบและอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกาย อาการพิษของมะกล่ำตาหนูจะมีความรุนแรงมากน้อยแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ขนาดรับประทาน สภาวะร่างกาย และอายุของผู้ได้รับสารพิษ อย่างไรก็ตาม หากคนไข้ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจทำให้เสียชีวิตได้
ผลของความเป็นพิษต่อระบบและอวัยวะต่าง ๆ เป็นดังนี้

ระบบกระเพาะอาหารและลำไส้ ฤทธิ์ระคายเคืองของสารพิษ abrin ทำให้เกิดการอักเสบของกระเพาะและลำไส้อย่างรุนแรง ร่วมกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย กลืนลำบาก และปวดเกร็งท้อง นอกจากนี้อาจไปทำลายเยื่อบุเมือกของลำไส้เล็กทำให้มีเลือดออกทางอุจจาระ และ อาเจียนเป็นเลือดได้

ระบบหัวใจและหลอดเลือด พิษเมล็ดมะกล่ำตาหนูไม่มีผลโดยตรงต่อหัวใจ แต่อาจทำให้เกิดอาการช็อค ความดันเลือดต่ำ และหัวใจเต้นเร็วหลังจากที่คนไข้อาเจียนและท้องเสียอยู่นาน สาร abrin มีฤทธิ์โดยตรงต่อเม็ดเลือดแดงทำให้เม็ดเลือดตกตะกอนและแตกตัว และอาจทำให้เกิดเลือดออกในทางเดินอาหาร

ระบบทางเดินหายใจ คนไข้อาจเกิดภาวะ cyanosis คือ เกิดการขาดเลือดหรือออกซิเจนจนทำให้ผิวหนังเปลี่ยนสีเป็นสีเขียว ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากที่คนไข้มีความดันโลหิตต่ำ และช็อค

ระบบประสาทส่วนกลาง อาจมีอาการเซื่องซึม ชักกระตุก ประสาทหลอน และมือสั่น

ระบบทางเดินปัสสาวะ อาการปัสสาวะน้อยลงหรือไม่ปัสสาวะเลย อาจเป็นผลมาจากความดันโลหิตต่ำที่เกิดขึ้นเป็นเวลานาน แต่ก็อาจมีสาเหตุมาจากภาวะไตล้มเหลวเฉียบพลัน การอุดตันของท่อปัสสาวะด้วยฮีโมโกลบินที่มาจากเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ถูกทำลาย ซึ่งมีผลส่งเสริมให้ไตวาย

ผลต่อตับ สารพิษมีฤทธิ์ไปทำลายเซลล์หรือเนื่อเยื่อของตับ ทำให้ระดับเอนไซม์ของตับในซีรัม เช่น แอสปาเตตทรานเฟอเรส (AST) อะลานีนทรานเฟอเรส (ALT) และ แลคติกดีไฮโดรจีเนส (LDH) มีค่าสูงขึ้นอย่างชัดเจน ระดับบิริลูบินในซีรัมมีค่าเพิ่มขึ้น

ผลต่อตาหูคอ จมูก อาจมีอาการเลือดออกในเรตินา (retina) เกิดขึ้นในช่วงแรกที่ได้รับสารพิษทำให้การมองเห็นลดลง หากตาโดนสารพิษจะทำให้เยื่อบุตาบวมและแดงมาก นอกจากนี้การกลืนพืชพิษลงไปอาจทำให้ระคายเคืองคอได้

ระบบเมแทบอลิซึม การอาเจียน ท้องเสีย และมีเลือดออก นำไปสู่ภาวะสูญเสียน้ำและอิเลกโตรไลท์ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้คนไข้ไม่รู้สึกตัว กล้ามเนื้ออ่อนเพลีย หัวใจเต้นผิดปกติ และกล้ามเนื้อเป็นตะคริว ผลของการอาเจียนเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดภาวะด่างในร่างกายเพิ่มขึ้น (alkalosis) แต่ถ้าผู้ป่วยเกิดอาการถึงขั้นช็อค และไตวาย อาจทำให้เกิดภาวะกรดเพิ่มขึ้นได้แทน (acidosis) ซึ่งเป็นผลจากการรบกวนสมดุลของสภาวะกรดเบสในร่างกาย (Acid base disturbances) การที่ร่างกายสูญเสียน้ำ ส่งผลเสียโดยตรงต่อไต ทำให้คนไข้ปัสสาวะได้น้อยลง ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตเนื่องจากเกิดภาวะยูรีเมีย (uremia) ตามมา
ตัวอย่างผู้ป่วย    เมล็ดมะกล่ำตาหนูมีความเป็นพิษ ทำให้เสียชีวิตได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่โดยเฉพาะเมล็ดที่ยังไม่แก่และมีเปลือกหุ้มอ่อน เพราะเปลือกหุ้มจะถูกทำให้แตกออกได้ง่ายในระบบทางเดินอาหารมีรายงานการได้รับพิษของผู้ป่วยหลายราย เช่น
- เด็กเคี้ยวเมล็ดมะกล่ำตาหนูแล้วเกิดพิษ มีอาการชัก ผิวหนังแดงเพราะเลือดสูบฉีด รูม่านตาขยายกว้างมาก และประสาทหลอน
- เด็กผู้หญิงอายุ 2 ปี รับประทานเมล็ดมะกล่ำตาหนู แล้วทำให้เกิดอาการอักเสบของระบบทางเดินอาหารนาน 4 วัน ภายหลังได้เสียชีวิตเนื่องจาก acidosis
- เด็กชาย 2 คน อายุ 9 และ 12 ปี รับประทานเมล็ดมะกล่ำตาหนู 1 เมล็ดหรือ มากกว่า มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง อาเจียน และมีอาการถ่ายอุจจาระเป็นเลือดเกิดขึ้นตามมา 1 สัปดาห์ ขณะที่เด็กคนหนึ่งยังคงมีเลือดออกทางทวารหนักนานต่อไปอีก 2-3 เดือน
- ผู้ใหญ่เคี้ยวเมล็ดมะกล่ำตาหนู แล้วเกิดอาการคลื่นไส้ภายใน 1 ชั่วโมง อาเจียนติดต่อกันอีกหลายครั้ง ภายใน 6 ชั่วโมง หลังจากนั้นมีอาการท้องเสีย ไม่มีแรง ยืนไม่ได้ เหงื่อออก เสียดท้อง อ่อนเพลีย ชีพจรเต้นเร็ว และมือสั่น
- เด็กชายไทยวัย 9 ปี กินเมล็ดมะกล่ำตาหนูแล้วทำให้มีอาการอาเจียนบ่อยครั้ง ปวดท้องอย่างรุนแรง ชัก และหมดสติ
การรักษา การช่วยเหลือเบื้องต้น ในกรณีรับประทานเมล็ดไปไม่เกิน 30 นาที ทำให้ผู้ป่วยอาเจียนเพื่อเอาเมล็ดหรือชิ้นส่วนของพืชออกมา โดยรับประทานยาน้ำเชื่อม ipecac แต่คนไข้จะต้องไม่อยู่ในสภาวะที่ห้ามทำให้อาเจียน หรือมีอาการบวมของคอหอย จากนั้นให้เก็บเมล็ดหรือพืชส่วนอื่น ๆ ที่ผู้ป่วยรับประทานเข้าไปหรือหากเป็นไปได้ให้เอาของเหลวที่ผู้ป่วยอาเจียนออกมาใส่ขวดสะอาด และนำไปตรวจสอบว่าผู้ป่วยได้รับประทานพืชพิษชนิดใด
   ถ้าไม่สามารถทำให้ผู้ป่วยอาเจียนได้ ก็ให้ใช้วิธีการล้างท้องแทน แต่วิธีการล้างท้องอาจไม่ประสบความสำเร็จหากคนไข้กลืนเมล็ดขนาดใหญ่ ในการล้างท้องถ้าต้องใช้ stomach tube ควรระมัดระวัง เพราะอาจกระทบกระเทือนแผลในทางเดินอาหารที่ได้รับจากพิษของพืช และให้ bismuth subcarbonate หรือ magnesium trisilicate ร่วมด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้แผลในทางเดินอาหารกว้างขึ้น จากนั้นจึงทำการรักษาประคับประคองผู้ป่วยตามอาการ
   นำผลวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ เช่น ปริมาณเลือด ข้อมูลของตับ ระดับอิเลกโตรไลท์ในกระแสเลือด ปริมาณยูเรีย ครีอะตินินในเลือด และผลวิเคราะห์ปัสสาวะ ซึ่งอาจปรากฏว่ามีโปรตีน เซลล์เม็ดเลือดแดง ฮีโมลโกลบิน และ cast รวมทั้งการตรวจสอบอื่น ๆ ตามสภาวะร่างกายของคนไข้มาใช้ประกอบในการรักษา
   คนไข้ที่เสียน้ำมากเนื่องจากอาการถ่ายท้องและอาเจียน จึงควรให้เกลือแร่อิเล็กโทรไลต์ และติดตามระดับอิเลกโตรไลท์ในกระแสเลือด แก้ไขภาวะ metabolic acidosis หากมีอาการเกิดขึ้น การสูญเสียน้ำอาจทำให้เกิดอาการช็อคที่มาจากการขาดเลือดร่วมกับมีความดันโลหิตต่ำ ถ้ารักษาโดยให้ของเหลวทางหลอดเลือดไม่ได้ผล ให้ทำ insert a central venous pressure line และให้พลาสมา หรือเดกซ์เทรน (dextran) เพื่อไปขยายปริมาตรภายในหลอดเลือด แต่ถ้าความดันโลหิตยังมีค่าต่ำอยู่ อาจพิจารณาให้โดปามีน (dopamine) หรือ โดบูทามีน (dobutamine) ทางหลอดเลือดอย่างต่อเนื่อง ภายหลังการให้ของเหลวทดแทนแล้วผู้ป่วยยังขับปัสสาวะไม่ออก อาจพิจารณาให้ทำไดอะไลซิส (dialysis)
   แม้ว่ายังไม่เคยมีรายงานกรณีที่คนไข้มีอาการของเม็ดเลือดแดงแตกอย่างรุนแรง (haemolysis) อย่างไรก็ตามหากปรากฏอาการ ก็ให้ของเหลวที่เป็นด่าง เพื่อรักษาระดับของ urine output ให้มีค่ามากกว่า 100 มิลลิลิตรต่อชั่วโมง ถ้าไตของคนไข้ยังทำงานได้ปกติอยู่
   คนไข้ที่มีอาการชักให้ยาต้านอาการชัก เช่น ไดอะซีแพม (diazepam) ในกรณีผู้ป่วยเด็กฉุกเฉิน อาจให้ไดอะซีแพมชนิดเหน็บทวาร ยาบรรเทาอาการระคายคอ อาจช่วยบรรเทาอาการระคายเคืองของกระเพาะอาหารและคอหอยได้ นอกจากนี้ก็ให้อาหารแป้งกับผู้ป่วย เพื่อช่วยป้องกันการเกิดอาการพิษต่อตับ และควรให้ความเย็นแก่คนไข้ไม่ทำให้คนไข้รู้สึกร้อน เพราะอากาศร้อนจะยิ่งทำให้คนไข้มีอาการพิษเพิ่มขึ้น
   ในกรณีที่ผู้ป่วยกลืนเมล็ดแก่ของมะกล่ำตาหนูที่แห้ง โดยไม่ได้เคี้ยว เมล็ดจะผ่านเข้าไปในลำไส้และออกมาโดยไม่ทำอันตราย ดังนั้นจึงอาจให้คนไข้ทานยาระบายเพื่อไปเร่งการขับออกของลำไส้ แต่ห้ามใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการพิษเกิดขึ้น เพราะจะยิ่งทำให้คนไข้ท้องเสียอย่างรุนแรง และสูญเสียน้ำมากขึ้น
บรรณานุกรม - นพมาศ สุนทรเจริญนนท์. พืชพิษ (Poisonous Plants). ใน รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล และคณะ (บรรณาธิการ). สมุนไพร: ยาไทยที่ควรรู้. กรุงเทพมหานคร: บริษัทอมรินทร์พริ้นติ๊งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2542.
- นันทวัน บุณยะประภัศร อรนุช โชคชัยเจริญสุข. สมุนไพร ไม้พื้นบ้าน. กรุงเทพมหานคร: บริษัทประชาชน จำกัด, 2542.
- ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์. ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม. กรุงเทพมหานคร: บริษัทประชาชน จำกัด, 2544.
- Morton J. Plants Poisonous to People in Florida and Other Warm Areas. 3rd ed. Miami: Hallmark Press, 1995.
- Thamrongwaranggoon T. Abrus poisoning, a case report. KHON-KAEN Hospital Medical J 1993;17(2):4.
- Gunsolus JM. Toxicity of Jequirity beans. J Amer Med Assoc 1955;157:779.
- Hart M. Jequirity bean poisoning. N Engl J Med 1963;268:885-6.
- Stripe F, Barbieri L. Symposium: molecular mechanisms of toxicity, toxic lectins from plants. Human Toxicology 1986;5(2):108-9.
- Budavari S (ed). The Merck Index: An Encyclopedia of Chemicals, Drugs, and Biological. 10th ed. New Jersey: Merck and Co., Inc.,1989.
- Ellenhorn MJ, Barceloux DG (eds). Medical Toxicology. New York: Elsevier Science Publishing Company Inc., 1987:1224-5.
- Gosselin RE, Smith RP, Hodge HC, Braddock JE. Clinical Toxicology of Commercial Products. Baltimore/London: Williams & Wilkins, 1984.
- Canadian Centre for Occupational Health and Safety. IPCSINTOX Databank . Available from http://www.intox.org [Access 2013, January,22]
- Lampe KF, Fagerstrom R. Plant Toxicity and Dermatitis: A Manual for Physician. Baltimore: Williams & Wilkins Company, 1968.