เนียง
ชื่อวิทยาศาสตร์ Archidendron jiringa (Jack) I.C. Nielsen
ชื่อพ้อง Pithecellobium lobatum Benth.,
P. jirniga (Jack) Prain ex King
วงศ์ Leguminosae-Mimosoideae (Fabaceae)
ชื่ออื่น ๆ ขางแดง ชะเนียง เนียงใหญ่ เนียงนก ผักหละต้น พะเนียง มะเนียง มะเนียงหย่อง ยิริงหรือยือริง ยินิกิง หย่อง เจ็งโกล ตานิงิน
ลักษณะของพืช ไม้ต้นขนาดกลาง สูง 10-15 เมตร เปลือกต้นสีเทาหรือน้ำตาลอ่อนปนเทา เรือนยอดเป็นพุ่มกลมใหญ่ ดอกสีขาว ขนาดเล็ก ออกเป็นช่อ ผลเป็นฝักแบนเป็นเกลียวไปทางเดียวกัน คล้ายรูปเกือกม้า ผิวสีน้ำตาลคล้ำ
ส่วนที่เป็นพิษ เมล็ด
สารพิษที่พบ djenkolic acid (กรดเจ็งโคลิค) ในลูกเนียง 1 กรัม จะมีกรดเจ็งโคลิค 15.86 ± 6.6 มิลลิกรัม
อาการพิษ เกิดอาการภายใน 2-14 ชั่วโมง ภายหลังรับประทาน อาการที่พบคือ ปวดตามบริเวณขาหนีบ ปัสสาวะลำบาก ปวดปัสสาวะมาก บางรายไม่มีปัสสาวะ (anuria) ปัสสาวะขุ่นข้น บางคราวปัสสาวะเป็นเลือด บางรายมีอาการปวดท้องแบบ colic ปวดท้องน้อย และปวดหลัง อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ความดันโลหิตสูง
ตัวอย่างผู้ป่วย - ชายไทยมีประวัติรับประทานลูกเนียงประมาณ 10 ลูก มีอาการปัสสาวะไม่ค่อยออก ปวดท้องน้อยและหลัง แต่หลังจากนอนพัก 4-5 วัน อาการก็หายไป
- ผู้ป่วยชาย อายุ 32 ปี รับประทานลูกเนียง มีอาการปัสสาวะไม่ออก และปวดท้องน้อยร้าวไปข้างหลัง ได้รับการรักษาโดยให้น้ำเกลือ, NaHCO3 และยาขับปัสสาวะทางหลอดเลือด และสวนปัสสาวะ พักรักษาอยู่โรงพยาบาล 3 วัน
- ผู้ป่วยหญิง อายุ 44 ปี รับประทานลูกเนียงมากกว่า 10 ลูก มีอาการปัสสาวะไม่ออก และปวดท้องน้อยร้าวไปข้างหลัง ได้รับการรักษาโดยให้น้ำเกลือ ยาขับปัสสาวะทางหลอดเลือด ยาคลายกล้ามเนื้อ และโซดามินต์
- ผู้ป่วยชาย อายุ 24 ปี รับประทานลูกเนียง มีอาการปัสสาวะกะปริดกะปรอย มีเลือดปน และปวดท้องน้อยร้าวไปข้างหลัง ได้รับการรักษาโดยให้น้ำเกลือ ยาขับปัสสาวะทางหลอดเลือด ยาคลายกล้ามเนื้อเข้ากล้าม และยาปฏิชีวนะ พักรักษาอยู่โรงพยาบาล 5 วัน
- ผู้ป่วยชาย อายุ 45 ปี รับประทานลูกเนียงปริมาณมาก มีอาการถ่ายปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะมีเลือดปน และปวดที่หัวหน่าวร้าวไปหลัง ได้รับการรักษาโดยสวนปัสสาวะที่ห้องฉุกเฉิน ให้ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาปฏิชีวนะ และโซดามินต์
- ผู้ป่วยหญิง อายุ 45 ปี รับประทานลูกเนียง มีอาการปัสสาวะกะปริดกะปรอย และปวดที่ท้องน้อย ได้รับการรักษาโดยให้ ยาขับปัสสาวะทางหลอดเลือด ยาคลายกล้ามเนื้อเข้ากล้าม และยาลดความดันโลหิต พักรักษาอยู่ โรงพยาบาล 3 วัน
- ผู้ป่วยชาย อายุ 44 ปี รับประทานลูกเนียง มีอาการปัสสาวะไม่ออก ได้รับการรักษาโดยให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด และยาคลายกล้ามเนื้อ พักรักษาอยู่ โรงพยาบาล 2 วัน
- ผู้ป่วยชาย อายุ 14 ปี รับประทานลูกเนียงสด 10 ลูก มีอาการปัสสาวะกะปริดกะปรอยมา 4 วัน ปัสสาวะขัด ปวดที่ท้องน้อยและกลางหลังมาก ต่อมาไม่มีปัสสาวะเลย และปวดที่กลางหลังมากขึ้น มีอาการ uremia (ท้องอืด คลื่นไส้ และอาเจียน) ได้ทำ dialysis ทางหน้าท้อง ภายหลังทำ 4-5 ครั้ง ผู้ป่วยปัสสาวะได้ดีขึ้น สังเกตอาการระยะหนึ่งเห็นว่าปัสสาวะยังออกดี จึงหยุดการ dialysis ได้รับการรักษาแบบไตวายเฉียบพลัน ให้โซดามินต์ทางปาก และ NaHCO3 ทางหลอดเลือดขนาด 100-150 มิลลิกรัม พักรักษาอยู่โรงพยาบาล 8 วัน
- ผู้ป่วยชาย อายุ 38 ปี รับประทานลูกเนียงเผา 3 ลูก ตอนเที่ยงวัน หลังจากนั้น ประมาณ 5 ทุ่ม ถ่ายปัสสาวะขุ่นข้นและขาวเหมือนน้ำนม ต่อมาปัสสาวะเป็นเลือด ปวดท้องและปวดหลังอย่างรุนแรง ผู้ป่วยให้ประวัติว่าเคยรับประทานลูกเนียงมาหลายครั้งแล้ว ไม่เคยมีอาการเช่นนี้มาก่อน ทุกคนในครอบครัวรับประทานลูกเนียงด้วยกันในตอนกลางวันแต่ปกติดีทุกคน ผู้ป่วยมาโรงพยาบาลในตอนเช้า ปัสสาวะออกน้อยและปวดมาก เวลาเบ่งปัสสาวะมีเหงื่อออกมาก แต่ไม่มีไข้ ปวดท้องมากเป็นพักๆ เมื่อฉีดมอร์ฟีน อาการปวดทุเลาลง ผู้ป่วยอาเจียนและท้องเดิน ปัสสาวะมีปริมาณปกติ แต่มีเลือดออกมาด้วย อาการต่าง ๆ ค่อยดีขึ้นในวันที่ 2 ที่อยู่โรงพยาบาล แต่ยังปัสสาวะมีเลือดออกอีกนานถึง 6 วัน
การรักษา ยังไม่มีการรักษาที่จำเพาะ ส่วนใหญ่เป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ
   1. ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อจะได้ละลายผลึกที่ตกค้าง และขับออกมาทางท่อปัสสาวะ
   2. รักษาตามอาการ ถ้าปวดมากให้ยาคลายกล้ามเนื้อ
   3. ทำให้ปัสสาวะเป็นด่าง โดยให้รับประทานโซดามินต์ หรือให้ NaHCO3 ทางหลอดเลือด เพราะผลึกของกรดเจ็งโคลิคละลายได้ดีในสารละลายที่เป็นด่าง
   4. ตรวจ BUN และ Creatinine เพื่อประกอบการพิจารณาทำ dialysis ถ้าจำเป็น
   5. อาจจะให้ยาขับปัสสาวะในบางกรณี
บรรณานุกรม - นันทวัน บุณยะประภัศร อรนุช โชคชัยเจริญพร (บรรณาธิการ). สมุนไพรไม้พื้นบ้าน เล่ม 1. กรุงเทพฯ: บริษัทประชาชน จำกัด, 2539.
- พิมพรรณ เกิดอุดม. การศึกษาความเป็นพิษในลูกเนียง Pithecellobium lobatum , Benth. และพยาธิสภาพที่เกิดขึ้นในสัตว์ทดลอง. ไทยเภสัชสาร 2520;2(3):777-89.
- มงคล โมกขะสมิต. รายงานการศึกษาเบื้องต้นของลูกเนียง. วารสารกรมการแพทย์ 2504;3(4):203-12.
- ยุทธิชัย เกษตรเจริญ วัฒนา วัฒนายากร สุรินทร์ เสรีกุล และคณะ. รายงานผู้ป่วยที่เกิดภาวะ djenkolism จากการรับประทานลูกเนียง. วารสารกรมการแพทย์ 2528;10(9):651-6.
- ลั่นทม จอนจวบทรง และคณะ (บรรณาธิการ). ผักพื้นบ้าน (ภาคใต้) ทางเลือกในการผลิตและการบริโภค. กรุงเทพฯ: องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก, 2537.
- ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์. ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม. กรุงเทพมหานคร: บริษัทประชาชน จำกัด, 2544.
- สุวิทย์ อารีกุล พิมพรรณ เกิดอุดม ชาญณรงค์ แสงหิรัญ และคณะ. การศึกษาส่วนประกอบทางเคมีและการเป็นพิษของเมล็ดเนียง. วิทยาสารเสนารักษ์ 2524;34(6):309-14.
- สุวิทย์ อารีกุล. เนียงเป็นพิษ. ข่าวสารเวชศาสตร์เขตร้อน 2518;2(6):9-12.
- Areekul S, Kirdudom P, Chaovanapricha K. Studies on djenkol bean poisoning (djenkolism) in experimental animals. Souhteast Asian J Trop Med Public Health 1976;7(4):551-8.
- Areekul S, Kirdudom P, Muangman V, et al. Djenkol bean as a cause of djenkolism. Abstr 3rd Congress of the Federation of Asian and Oceanian Biochemists, Bangkok, Thailand 1983: POS03-06.
- Areekul S, Kirdudom P. Studies on the chemical components and toxic substances in niang beans. J Med Assoc Thailand 1977;60(1);3-8.
- Areekul S, Muangman V, Bohkerd C, et al. Djenkol bean as a cause of urolithiasis. Southeast Asian J Trop Med Public Health 1978;9(3):427-32.
- Areekul S, Seanghirum C, Kirdudom P. Studies on the hypoglycemic effect of niang bean extract. Siriraj Hosp Gaz 1976;28(10):1607-14.
- Areekul S. Djenkol bean, djenkolic acid and djenkolism. J Med Assoc Thailand 1979;62(10):529-31.
- Arekul S, Seanghirum C, Chaovanapricha K. Studies on the toxicity of L-djenkolic acid in mice. Siriraj Hosp Gaz 1975;29:317-23.
- Eiam-Ong S, Sitprija V. Djenkol bean neprotoxicity: a preliminary survey in southern Thailand. Toxicon 1988;26(1):20.
- Muangman V, Bohkerd C. Urethral calculus due to niang beans poisoning. Thai J Urology 1978;1:37-40.
- Rajatasilpin A, Sukontamarn P, Piyarath T. Niang the cause of djenkolism. Pub Hlth Alumni Bull 1961;1:61-5.
- Reiman HA, Vtojo Sukaton R. Djenkol-bean poisoning (djenkolism): a cause of hematuria and anuria. Am J Med Sci 1956;236:172-4.
- West CE, Perrin DD, Shaw DC, et al. Djenkol bean poisoning (djenkolism): proposal for treatment and prevention. Southeast Asian J Trop Med Public Health 1973;4(4):564-70.