1. ชื่อสมุนไพร           กะทือ

          ชื่อวิทยาศาสตร์ Zingiber zerumbet (Linn.) Smith.

          ชื่อวงศ์           ZINGIBERACEAE

          ชื่อพ้อง           Zingiber amaricans  Blume

          ชื่ออังกฤษ        Shampoo ginger

          ชื่อท้องถิ่น        กะทือป่า, กะแวน, กะแอน, เปลพ้อ, เฮียวข่า, เฮียวแดง, แฮวดำ

 

2. ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

          พืชล้มลุก ชนิดลงหัว ข้างในสีขาวหรือเหลืองอ่อน ใบเดี่ยว ขอบใบเรียบ ใบยาว ปลายใบแหลม ดอกช่อแทงจากเหง้า ดอกสีขาวหรือเหลืองอ่อน มีลักษณะเป็นหลอด ปลายกลีบมีรูปร่างเหมือนปากอ้า แต่ละดอกมีกลีบเลี้ยงสีเขียวปนแดง

 

3. ส่วนที่ใช้เป็นยาและสรรพคุณ

          -ส่วนเหง้าหรือหัว                    รักษาอาการแน่นจุกเสียด

 

4. สารสำคัญที่ออกฤทธิ์

          น้ำมันหอมระเหยจากกระทือมีฤทธิ์ขับลม (1) สาร Zerumbone ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักในน้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียและไวรัส ฤทธิ์ต้านมะเร็ง และ ฤทธิ์ลดการอักเสบ (2, 3)

 

5.  ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา

          5.1   ฤทธิ์ขับลม

       น้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์ช่วยขับลม (1)

          5.2   ฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้

       มีรายงานฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบของหนูตะเภาจากสารสกัดกะทือ (4)

5.3   ฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย

       สารสกัดกะทือด้วยแอลกอฮอล์ มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคท้องร่วง เช่น Escherichia coli, Shigella flexneri, Vibrio cholerae, และ Vibrio parahaemolyticus (5) ในขณะที่สารกลุ่มเทอร์ปีนในน้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียกลุ่ม Staphylococcal (2, 6)

          5.4   ฤทธิ์แก้อาเจียน

       ตำรับยาที่มีกะทือเป็นส่วนประกอบ สามารถแก้อาการอาเจียนในหญิงมีครรภ์ได้ (7)

          5.5   ฤทธิ์เป็นพิษต่อเซลล์

       สารสกัดจากเหง้าและสาร zerumbone ในน้ำมันหอมระเหยจากกะทือมีฤทธิ์เป็นพิษต่อเซลล์เพาะเลี้ยงในหลอดทดลอง (8)

6. อาการข้างเคียง

          ยังไม่มีรายงาน

 

7. ความเป็นพิษทั่วไปและต่อระบบสืบพันธุ์

7.1   การทดสอบความเป็นพิษ

       เมื่อป้อนสารสกัดจากกะทือในขนาด 10 กรัม/กิโลกรัม หรือฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนูเม้าส์ ซึ่งขนาดที่ใช้มีความแรงเป็น 250 เท่าของขนาดที่ใช้ในตำรับยาไม่พบความเป็นพิษใด ๆ (9) เมื่อป้อนตำรับยาที่มีกะทือเป็นส่วนประกอบให้กับหนูเม้าส์ ไม่พบความผิดปกติของตัวอ่อนในหนูที่กำลังตั้งท้อง (7)

7.2   ฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์

       สารสกัดด้วยน้ำร้อนและน้ำจากรากของกะทือ รวมทั้งตำรับยาที่มีกระทือเป็นส่วนประกอบ ไม่มีผลให้เกิดการกลายพันธุ์กับเซลล์แบคทีเรีย (10, 7)

จากข้อมูลดังกล่าวแสดงว่ากระทือเป็นสมุนไพรที่ค่อนข้างปลอดภัย

 

8.  วิธีการใช้กระทือรักษาอาการแน่นจุกเสียด

8.1   ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สาธารณสุขมูลฐาน)

       ใช้เหง้าหรือหัวสดที่ปิ้งไฟมาฝนกับน้ำปูนใสประมาณครึ่งแก้ว เอาเฉพาะส่วนน้ำมาดื่ม (11)

8.2   ยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ

                       ไม่มี

 

เอกสารอ้างอิง

1.      Ross MSF, Brain KK. An introduction to phytopharmacy. London: Pithman Medical Publishing Co. Ltd. 1977. p.158-76.

2.             Kitayama T. Attractive reactivity of a natural product, Zerumbone. Biosci. Bioctechnol. Biochem 2011;75(2):199-207.

3.             Abdul AB, Abdelwahab SI, Al-Zubairi AS, Elhassan MM, Murali SM. Anticancer ans antibacterial activities of zerumbone from the rhizomes of Zingiber zerumbut. Int J Pharmacol 2008; 4(4): 301-304.

4.             Thamaree S, Pachotikarn C, Tankeyoon M, Itthipanichpong C. Effects on intestinal motility of thirty herbal medicines used in the treatment of diarrhoea and dysentry. Chula Med J 1985; 29(1):39-51.

5.             Gristsanapan W, Chulasiri M. A preliminary study of antidiarrheal plants: I. Antibacterial activity. J Pharm Sci Mahidol Univ 1983;10(4):119-22.

6.             Kader MG, Habib MR, Nikkon F, Yeasmin T, Rashid MA, Rahman MM, Gibbons S. Zederone from the rhizomes of Zingiber zerumbet and its anti-staphylococcal Activity. Boletín Latinoamericano y del Caribe de Plantas Medicinales y Aromáticas 2010;9(1):63-68.

7.             Ostraff M, Anitoni K, Nicholsan A, Booth GM. Traditional Tongan cures for morning sickness and their mutagenic/toxicological evaluations. J Ethnopharmacol 2000;71:201-9.

8.             Bradacs G, Maes L, Heilmann J. In vitro cytotoxic, amtiprotozoal and antimicrobial activities of medicinal plants from Vanuatu. Phytother 2010;24:800-9.

9.             Mokkhasmit M, Sawasdimongkol K, Sartravaha P. Toxicity study of some medicinal plants. Bull Dep Med Sci Thailand 1971;13(1):36-66.

10.          Ungsurungsie M, Suthienkul O, Paovalo C. Mutagenicity screening of popular Thai spices. Food Cosmet Toxicol 1982;20:527-30.

11.          กองวิจัยการแพทย์.  สมุนไพรพื้นบ้าน ตอนที่ 1.  กรุงเทพฯ: กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กระทรวงสาธารณสุข, 2526. หน้า 12.