1.   ชื่อสมุนไพร          ทับทิม

          ชื่อวิทยาศาสตร์ Punica granatum Linn.

          ชื่อวงศ์           PUNICACEAE

          ชื่อพ้อง           -

          ชื่ออังกฤษ       Pomegranate

          ชื่อท้องถิ่น       เซี๊ยะลิ้ว, พิลา, พิลาขาว, มะก่องแก้ว, มะเก๊าะ, หมากจัง

 

2.   ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

          ไม้พุ่ม ปลายกิ่งอ่อนโค้งเล็กและมักมีหนามแหลม ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน รูปรีแกมขอบขนาน โคนใบสอบแคบ ปลายใบกว้าง เนื้อใบบางและเป็นมัน ดอกเดี่ยวหรือช่อ ออกตามปลายกิ่ง กลีบดอกสีส้มแดง ร่วงง่าย กลีบรองดอกหนาแข็ง สีส้มแกมเหลือง โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายหลอดจักเป็นฟันเลื่อยและโค้งออก กลีบดอกจำนวนเท่าๆ กับกลีบรอง ผลกลมโต ผิวนอกแข็งเป็นมัน สีเขียวอมเหลือง สีแดงอมน้ำตาล หรือสีทับทิม เมื่อแก่จะแตกอ้าออก เมล็ดมีเนื้อเยื่อใสสีขาวอมชมพูหรือสีแดงหุ้มอยู่

 

3.   ส่วนที่ใช้เป็นยาและสรรพคุณ

         - เปลือก          รักษาอาการท้องเสีย

 

4.   สารสำคัญที่เป็นสารออกฤทธิ์

          เปลือกผลทับทิมมี tannin (1) มีฤทธิ์ฝาดสมานใช้แก้ท้องเสีย (2) และมี ellagic acid, gallagic acid, punicalins และ punicalagins ซึ่งมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย และต้านอนุมูลอิสระ (3)       

5.   ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา

         5.1   ฤทธิ์รักษาอาการอุจจาระร่วง

                 ตำรับยาที่มีเปลือกผลทับทิมเป็นส่วนประกอบ สามารถรักษาอาการท้องเสียในเด็กและทารก 305 คน โดยอาการหายไปภายใน 1-3 วัน จำนวน 281 คน และมีอาการดีขึ้น 9 คน (4) สารสกัดเปลือกผลทับทิมโดยการต้มกับน้ำ แล้วสกัดด้วยเอทานอลร้อยละ 95 (5) หรือ เอทานอลร้อยละ 50 (6) มีฤทธิ์ลดความถี่ของการถ่ายอุจจาระ และยับยั้งการหลั่งสารของลำไส้ในหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้อุจจาระร่วงด้วยน้ำมันละหุ่ง (5, 6), แมกนีเซียมซัลเฟต, เซนโนไซด์ บี และ misoprostol (6) สารสกัดเปลือกทับทิมยังมีฤทธิ์ยับยั้งการเคลื่อนไหวของลำไส้เล็ก และลดการบีบตัวของลำไส้ซึ่งถูกชักนำโดย acetylcholine (7) ตำรับยาที่มีสารสกัดจากเปลือกผลทับทิมเป็นส่วนประกอบมีฤทธิ์รักษาอาการอุจจาระร่วงในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้อุจจาระร่วงด้วยน้ำมันละหุ่ง โดยยืดระยะเวลาจากการเริ่มถ่ายครั้งแรกและลดการถ่ายเหลว นอกจากนี้ยังมีผลยับยั้งการเคลื่อนตัวของลำไส้ด้วย (8) กลไกในการยับยั้งอาการท้องเสียของเปลือกผลทับทิม อาจเกิดจากการเพิ่มการดูดซึมของน้ำในลำไส้หรือลดการขับน้ำออกสู่ลำไส้ และลดการบีบตัวของลำไส้ในสัตว์ทดลอง (6) นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัดด้วยเมทานอลจากเมล็ดสามารถรักษาอาการอุจจาระร่วงในหนูแรทได้  โดยลดความถี่ของการถ่าย ยับยั้งการเคลื่อนไหวของลำไส้ และยับยั้ง prostaglandin E2 (PGE2) ทำให้ไม่ถ่ายเหลว (9)

         5.2   ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย

                 น้ำทับทิมสามารถป้องกันการทำลายเนื้อเยื่อในลำไส้เล็ก และลดการถ่ายเหลวเนื่องจากเชื้อแบคทีเรีย Aeromonas hydrophila ได้ในหนูเม้าส์ (10) สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียก่อโรคอาหารเป็นพิษคือ Listeria monocytogenes (11) และสามารถกระตุ้นการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่มีประโยชน์ต่อร่างกายคือ Bifidobacterium breve และ B. infantis ซึ่งช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และช่วยระบบขับถ่าย (12)

                 สารสกัดจากเปลือกผลทับทิมมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในทางเดินอาหาร อาหารเป็นพิษ และอุจจาระร่วงได้แก่ เชื้อแบคทีเรียในตระกูล Aeromonas, Escherichia, Vibrio, Salmonella, Shigella, Staphylococcus, Bacillus และ Proteus (13-16) เช่น Escherichia coli (17-25), Vibrio cholerae, Vibrio parahaemolyticus (26, 27), Salmonella typhi (28), Salmonella paratyphi (29), Salmonella typhosa (30), Salmonella enterica (31, 32), Shigella sonnei, Shigella dysenteriae (17, 29, 30, 33), Shigella flexeneri (17, 26, 30), Shigella boydii (19), Staphylococcus aureus (18, 20, 22-24, 33-35), Bacillus cereus (18, 22), Bacillus subtilis (30), Proteus mirabilis (34), Proteus vulgalis (15, 16) และ S. iondons (19) และเชื้อก่อโรคอาหารเป็นพิษอื่นๆ คือ Listeria monocytogenes (31, 32) นอกจากนี้ยังมีผลต่อเชื้อคือ P. aeruginosa (19) สบู่เหลวที่เตรียมจากสารสกัดเปลือกทับทิมสามารถต้านเชื้อ S. aureus, E. coli, B. cereus, S. typhi และ Sh. flexneri โดยพบว่าจุลินทรีย์บนมือของอาสาสมัครลดลงภายหลังจากฟอกด้วยสบู่เหลวชนิดนี้ (36) สารสกัดจากเปลือกผลทับทิมยังมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสิวและผิวหนังอักเสบได้แก่ Propionibacterium acnes, S. aureus และ S. epidermidis (37, 38)

                 สารจากผลทับทิมสามารถต้านเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ ผิวหนังอักเสบ ปอดบวม ได้แก่ E.coli, S. typhi, S. albus, S. aureus, B. subtilis, B. cereus, B. coagulans, S. gallinarum, P. aeruginosa, P. mirabilis, P. vugaris (39-43) และ Aeromonas sobria (44) และสารสกัดด้วยเมทานอลจากผลสามารถยับยั้งการสร้างสาร enterotoxin A ของแบคทีเรียได้ (45) สารสกัดด้วยเอทานอลและน้ำจากผลทับทิมสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียจากคราบหินปูนบนฟัน (46) สารสกัดจากส่วนเหนือดิน (47) ลำต้น (48) เปลือกต้น (49) และใบ (48-53) ของทับทิมมีฤทธิ์ต้านเชื้อก่อโรคอาหารเป็นพิษหลายชนิดได้แก่ เชื้อ S. aureus, S. albus, S. epidermidis, B. cereus , P. mirabilis, Salmonella B, S. paratyphi A, S. typhosa, S. newport, V. parahaemolyticus, E. coli, P. vulgaris, Sh. dysenteriae, Sh. flexneri, Sh. flexneri 3A และ Yersinia enterolitica (47-53) นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ต้านเชื้อที่ทำให้เกิดปอดบวม ได้แก่ Klebsiella pneumoniae และ P. aeruginosa  และมีฤทธิ์ต้านโรคแอนแทรกซ์ (Bacillus anthracis) (47) สารสกัดทับทิมไม่ระบุส่วน มีฤทธิ์ต้านเชื้อ B. cereus, S. aureus, E. coli และ K. pneumoniae (54-58)

                 สารที่แยกได้จากใบทับทิม คือ gallic acid และ luteolin มีฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรีย S. aureus, S. typhimurium, V. parahaemolyticus, E. coli, Sh. flexneri และ B. cereus (52) สารที่แยกได้จากน้ำทับทิมและผลทับทิม ได้แก่ ellagic acid, gallagic acid, punicalins และ punicalagins มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียและราได้แก่ E. coli, P. aeruginosa, Candida albicans, Cryptococcus neoformans, S. aureus, Aspergillus fumigatus และ Mycobacterium intracellulare นอกจากนี้สาร gallagic acid และ punicalagins ยังมีฤทธิ์ต้านเชื้อมาเลเรีย (Plasmodium falciparum) (3, 59, 60) สารผสมระหว่าง ellagitannins จากทับทิมกับ naphthoquinones มีฤทธิ์ต้านเชื้อ S. aureus ทั้งสายพันธุ์ที่ไวต่อยาและดื้อยา methicillin (61)

                 สาร pelargonidin-3-galactose, cyaniding-3-glucose, gallic acid, quercetin และ myricetin มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียในกลุ่ม Corynebacterium, Staphylococci, Streptococci, B. subtilis, Shigella, Salmonella, V. cholerae และ E. coli (62) เจลที่เตรียมจากสารสกัดทับทิมมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียสายพันธุ์ก่อโรค เช่น  Streptococcus mutans, S. sanguis, S. mitis และ C. albicans ได้ดีกว่ายา miconazole (63) และให้ผลดีในการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อราในปากเมื่อใช้วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 15 วัน (7)

         5.3   ฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัส

                 Punicalagin และฟลาโวนอยด์จากทับทิมมีฤทธิ์ต้านไวรัสโรคหวัด โดยสามารถยับยั้งไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ฮ่องกงในคน (H3N2) ในหลอดทดลอง นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าสารสกัดทับทิมสามารถฆ่าเชื้อไวรัสเอดส์ได้ด้วย (7)

         5.4   ฤทธิ์ต้านการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ

                 สารสกัดด้วยเอทานอลร้อยละ 50 จากเปลือกผลทับทิมมีผลยับยั้งการเกร็งตัวของลำไส้เล็กส่วนปลายของหนูตะเภาที่ถูกเหนี่ยวนำให้หดเกร็งด้วย acetylcholine, BaCl2 และกระแสไฟฟ้า (6) ในขณะที่สารสกัดด้วย เอทานอลร้อยละ 50 จากส่วนเหนือดิน ไม่มีฤทธิ์ยับยั้งการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อลำไส้เล็กในหนูตะเภา (64)

         5.5   ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

                 อาหารเสริมที่เตรียมจากสารสกัดทับทิมที่มีสารโพลีฟีนอล ellagitannin ในปริมาณสูง มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ทำให้อนุมูลอิสระในพลาสมาลดลง เมื่อให้อาสาสมัครกินสารสกัดทับทิมวันละ 1 กรัม (65) ในคนปกติ น้ำทับทิมและผลทับทิมสดจะช่วยเพิ่มความสามารถของสารต้านอนุมูลอิสระในพลาสมา (7)

                 สารสกัดโพลีฟินอลจากเปลือกทับทิมมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ hydroxyl และการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันของไขมันของเซลล์ตับหนู (15) สารสกัดด้วยเมทานอลจากเปลือกทับทิมและน้ำทับทิมช่วยเพิ่มการทำงานของเอ็นไซม์ต้านอนุมูลอิสระได้แก่ catalase, superoxide dismutase, glutathione peroxidase, glutathione-S-transferase และ glutathione reductase ในหนูทดลอง (7) สารสกัดจากใบ ดอก ผล เมล็ดทับทิม และสารที่แยกได้จากน้ำทับทิมได้แก่ ellagic acid, gallagic acid, punicalins และ punicalagins มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (3, 7, 50) และ ellagic acid ยังมีฤทธิ์ยับยั้งการเกิดออกซิเดชันของไขมัน (60)

         5.6  ฤทธิ์ต้านการอักเสบ

                 สารสกัดด้วยเมทานอลและน้ำจากผลทับทิม กรดไขมันจากเมล็ดทับทิม punicic acid และสารที่แยกได้จากทับทิมได้แก่ punicalagin, punicalin, strictinin A และ granatin B มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ โดยพบว่ามีกลไกการออกฤทธิ์หลายแบบได้แก่ ยับยั้งการสร้างสารที่ทำให้เกิดการอักเสบได้แก่ไนตริกออกไซด์  PGE2 และ TNF-a และกดการทำงานของเอ็นไซม์ที่กระตุ้นการสังเคราะห์สารที่ทำให้เกิดการอักเสบ คือ COX-2 (23) นอกจากนี้สารสกัดเปลือกผลทับทิมที่มี ellagic acid ร้อยละ 13 ก็สามารถยับยั้งการสร้างไนตริกออกไซด์ได้ (37) 

         5.7  ฤทธิ์ต้านการแพ้

                 การทดสอบฤทธิ์ต้านการแพ้ของสารสกัดจากเปลือกผลทับทิมที่มี ellagic acid ร้อยละ 13 พบว่าสามารถยับยั้งการปล่อย β-hexosaminidase ซึ่งเป็นเอ็นไซม์ที่กระตุ้นให้เกิดการแพ้เมื่อทำการทดสอบในเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวของหนูแรท (RBL-2H3) (37)

         5.8  ฤทธิ์ปกป้องตับ

                 สาร ellagic acid มีฤทธิ์ปกป้องตับจากพิษของคาร์บอนเตตร้าคลอไรด์ อัลฟลาทอกซิน อัลกอฮอล์ และN-2-fluronenylacetamide ในสัตว์ทดลอง (60) และพบว่าดอกทับทิมมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและปกป้องตับจากพิษของ ferric nitrilotriacetate (7)

         5.9   ฤทธิ์ลดไขมันในเลือด

                 น้ำทับทิมมีฤทธิ์ลดคอเลสเตอรอลในเลือดของผู้ป่วยไขมันในเลือดสูง ลดระดับการเกิดออกซิเดชันของไขมัน และช่วยเพิ่มปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระในเลือด สารสกัดจากดอกและเปลือกทับทิม และ ellagic acid ช่วยลดคอเลสเตอรอล, LDL, VLDL, ไตรกลีเซอไรด์ และช่วยเพิ่ม HDL (7)

         5.10 ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด

                 มีรายงานว่าดอก เมล็ด น้ำทับทิม สารสกัดจากเปลือกทับทิม และสารสำคัญจากทับทิม ได้แก่ polyphenols, oleanolic acid, ursolic acid และ gallic acid มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด โดยเกี่ยวข้องกับการกระตุ้น Peroxisome proliferator-activated receptor gamma (PPAR-γ)  ยับยั้งการดูดซึมและการสร้างกลูโคส ยับยั้งเอ็นไซม์กลูโคซิเดส และกระตุ้นการหลั่งอินซูลินจากเซลล์ตับอ่อน (7)

         5.11 ฤทธิ์ป้องกันต้อกระจก

                 สาร ellagic acid ฉีดเข้าช่องท้องช่วยป้องกันการเกิดต้อกระจกในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำด้วย selenite โดยผ่านกลไกการต้านอนุมูลอิสระ และยับยั้งการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นของไขมัน (60)

          5.12 ฤทธิ์ปกป้องผิว

                 น้ำมันจากเมล็ดและสารสกัดจากเปลือกผลทับทิมมีฤทธิ์กระตุ้นการสร้างเซลล์ผิวหนัง โดยกระตุ้นการสร้างและยับยั้งการทำลายคอลลาเจน และพบว่าสารสกัดทับทิมที่มี ellagic acid ร้อยละ 90 จะช่วยยับยั้งไม่ให้ผิวคล้ำเนื่องจากรังสีอุลตราไวโอเลตในหนูได้ และป้องกันการทำลายผิวจากรังสีอุลตราไวโอเลตชนิด เอ (7)

         5.13 ฤทธิ์ต้านมะเร็ง

                 สาร ellagic acid ที่พบในทับทิมมีฤทธิ์ต้านมะเร็งในเนื้อเยื่อหลายชนิด เช่น ลำไส้ ทางเดินอาหาร ตับ ปอด ลิ้น และผิวหนัง โดยมีฤทธิ์กระตุ้นการเกิดกระบวนการตายของเซลล์มะเร็ง (apoptosis) บางชนิด มีฤทธิ์ต้านสารก่อมะเร็ง เช่น nitrosamines, azoxymethane, mycotoxins และ polycyclic aromatic hydrocarbons  และพบว่าฤทธิ์ต้านมะเร็งจะดีขึ้นเมื่อใช้ร่วมกับ quercetin (60)

 

6.   อาการข้างเคียง

         ไม่มีรายงาน

 

7.   ความเป็นพิษทั่วไปและต่อระบบสืบพันธุ์

         7.1   การทดสอบความเป็นพิษ  

                 สารสกัดจากทับทิม (65) และน้ำทับทิม ไม่พบว่าเป็นพิษเมื่อให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดตีบรับประทานติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปี (7)  ในการทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันพบว่าสารสกัดด้วยเอทานอลร้อยละ 50 จากส่วนเหนือดิน สารสกัดด้วยน้ำ สารสกัดด้วยอัลกอฮอล์จากราก และสารสกัดด้วยอัลกอฮอล์จากผล มีความเป็นพิษปานกลางถึงมาก เมื่อฉีดเข้าทางช่องท้องหนูเม้าส์ (47, 66, 67) ส่วนสารสกัดด้วยเอทานอลร้อยละ 50 จากดอก ไม่เป็นพิษต่อหนูเม้าส์เมื่อให้โดยการฉีดเข้าช่องท้องขนาด 1 กรัม/กิโลกรัม (68) ในขณะที่สารสกัดผลทับทิมที่มี punicalagin ซึ่งเป็น ellagitannin ร้อยละ 30 มีความเป็นพิษเล็กน้อยเมื่อให้หนูแรททางปาก แต่มีความเป็นพิษมากเมื่อฉีดเข้าช่องท้อง

                 จากการทดสอบความเป็นพิษกึ่งเรื้อรังของสารสกัดดังกล่าว ไม่พบความเป็นพิษต่อหนูแรทเมื่อป้อนสารสกัดขนาด 600 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน เป็นเวลา 90 วัน (69)  และไม่พบความเป็นพิษเมื่อให้หนูแรทกินอาหารที่มีสาร punicalagin ผสมอยู่ร้อยละ 6 เป็นเวลา 37 วัน เพียงแต่ทำให้ความอยากอาหารลดลง (70) กรดแทนนิกและสาร pelletierine มีความเป็นพิษเมื่อให้กระต่ายทางปากในขนาด 1 กรัม/กิโลกรัม เป็นเวลา 40 วัน (71) สารสกัดเปลือกทับทิมด้วยน้ำสามารถทำให้นกกระจอกตัวผู้ตายเมื่อให้ในขนาด 0.4 มิลลิลิตร/วัน (72)  

          7.2   ความเป็นพิษต่อเซลล์

                 สารสกัดเปลือกผลทับทิมด้วยน้ำไม่เป็นพิษต่อ mononuclear cells จากเลือดของมนุษย์ (73) และพบว่าสาร ellagic acid, gallagic acid, punicalins และ punicalagins ที่แยกได้จากน้ำทับทิมในปริมาณรวม 31.25 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ไม่มีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด HL-60 (3)

         7.3   ความเป็นพิษต่อตับ

                 สารสกัดจากเปลือกผลส่วนที่มี gallotannin ความเข้มข้นร้อยละ 0.5 เมื่อฉีดเข้าช่องท้องหนูเม้าส์วันละ 20 มิลลิลิตร/กิโลกรัม เป็นเวลา 2 วัน พบว่าตับถูกทำลายอย่างรุนแรง (1)

         7.4   ฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์

                 สารสกัดด้วยเอทานอลจากใบและลำต้นมีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ต่อเชื้อ Salmonella typhimurium (50) สารสกัดด้วยแอลกอฮอลของผลทับทิมมีความเป็นพิษต่อยีน (74) น้ำมันจากเมล็ดทับทิมไม่ก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ในสัตว์ทดลองเมื่อให้ในขนาด 4.3 กรัม/กิโลกรัม/วัน เป็นเวลา 28 วัน (75)

         7.5   พิษต่อระบบสืบพันธุ์

                 เปลือกผลทับทิมมีฤทธิ์คุมกำเนิดเมื่อให้หนูทั้ง 2 เพศกินในขนาด 18 กรัม/กิโลกรัม โดยผสมในอาหาร (76) สารสกัดด้วยน้ำร้อนไม่ระบุส่วนและขนาดที่ให้มีฤทธิ์คุมกำเนิดเมื่อทดสอบในหนูแรทเพศเมีย (77) สารสกัดด้วยน้ำและเอทานอลขนาด 1.82 กรัม/กิโลกรัม เมื่อให้ทางกระเพาะอาหารแก่หนูแรท พบว่ามีผลยับยั้งการฝังตัวของตัวอ่อนเช่นกัน (78, 79) อย่างไรก็ตาม สารสกัดด้วยเอทานอลจากผล (80) และราก เมื่อให้หนูแรทกินในขนาด 200 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (31) พบว่าไม่ทำให้แท้ง สารสกัดด้วยเอทานอลจากผล (80) สารสกัดด้วยอะซีโตน สารสกัดด้วยเมทานอล สารสกัดด้วยเอทานอลร้อยละ 50 จากทั้งต้น (81) ให้ในขนาด 200 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และสารสกัดด้วยอะซีโตน สารสกัดด้วยน้ำร้อน สารสกัดด้วยเมทานอลจากราก ในขนาด 150 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (82) ไม่พบความเป็นพิษต่อตัวอ่อนของหนูแรท  ในขณะที่เมื่อฉีดสารสกัดจากผล ไม่ระบุขนาดเข้าช่องท้องหนูแรทเพศเมีย (83) และให้หนูกินสารสกัดด้วยเอทานอล ขนาด 200 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (84)หรือให้สารสกัดด้วยบิวทานอล สารสกัดน้ำจากผล ขนาด 1.82 กรัม/กิโลกรัม ทางกระเพาะอาหารแก่หนูแรท (79) พบว่าไม่มีผล

         7.6   ทำให้แพ้

                 มีรายงานการแพ้ในคนที่รับประทานผลสดของทับทิม โดยจะเกิดผื่นลมพิษ การบวมที่ลิ้น ริมฝีปาก มือ แขน ใบหน้า คันตา ตาแดง ระคายเคืองจมูก หายใจลำบาก และเกิดภาวะแพ้รุนแรง (anaphylactic) เป็นต้น (85-88) และยังมีรายงานว่าเด็กที่รับประทานเมล็ดทับทิมแล้วเกิดอาการหอบหืดชนิดที่เกี่ยวข้องกับ IgE ขึ้น นอกจากนี้การทดสอบการแพ้ทางผิวหนังของผลสด พบว่าให้ผลบวก (89) 

 

8. วิธีการใช้

8.1   ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สาธารณสุขมูลฐาน)

         1.     นำเปลือกทับทิมมาต้มกับน้ำจนเดือด ให้เด็กดื่มน้ำทับทิมครั้งละ 1-2 ช้อนชา ทุก 4 ชั่วโมง และ 1 ช้อนโต๊ะ สำหรับผู้ใหญ่ (90)

         2.     ใช้เปลือกแห้งฝนน้ำรับประทาน (91)

 

8.2   ยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ

                            ไม่มี

 

 

เอกสารอ้างอิง

1.             Anon. Studies on the toxic effects of certain burn escharotic herbs. Chung-Hua Hsueh Tsa Chih 1978;4:388.

2.             Reynolds JEF; ed.  Martindale: The extra pharmacopocia. London: The Pharmaceutical Press 1989. p.779.

3.             Reddy MK, Gupta SK, Jacob MR, Khan SI, Ferreira D. Antioxidant, antimalarial and antimicrobial activities of tannin-rich fractions, ellagitannins and phenolic acids from Punica granatum L. Planta Med 2007; 73: 461-7.

4.             Zheng YZ, Zhang N. Treatment of 305 cases of infantile diarrhea with kexieding capsule. Fujian J Trad Chin Med 1988;19(3):13-4.

5.             Pillai NR. Anti-diarrhoeal activity of Punica granatum in experimental animals. Int J Pharmacog 1992;30(3):201-4.

6.     วันชัย ไอรารัตน์ วีรพล คู่คงวิริยพันธ์ จินตนา สัตยาศัย. การศึกษาฤทธิ์ต้านอาการท้องร่วงของน้ำสกัดใบฝรั่งและเปลือกผลทับทิมตากแห้งในสัตว์ทดลอง. ศรีนครินทร์เวชสาร 2003; 15(1):3-11.

7.             Viuda-Martos M, Fernández-López J, Pérez-Álvarez JA. Pomegranate and its many functional components as related to human health: a review. Compr Rev Food Sci Food Saf 2010;9:635-54.

8.             Pallavi B, Subhash B. Gastrointestinal effects of Mebaridâ, an ayuravedic formulation in experimental animals.  J Ethnopharmacol 2003;86:173-6.

9.             Das AK, P Mandalk SC, Banerjee SK, Sinha S, Das J, Saha BP, Palm M. Studies on antidiarrhoeal activity of Punica granatum seed extract in rats. J Ethnopharmacol 1999;68(1/3):205-8.

10.         Belal SKM, Abdel-Rahman AH, Mohamed DS, Osman HEH, Hassan NA. Protective effect of pomegranate fruit juice against Aeromonas hydrophila-induced intestinal histopathological changes in mice. World Appl Sci J 2009;7(2):245-54.

11.         Lucas DL, Were LM. Anti-Listeria monocytogenes activity of heat-treated lyophilized pomegranate juice in media and in ground top round beef. J Food Prot 2009;72(12):2508-16.

12.         Bialonska D, Kasimsetty SG, Schrader KK, Ferreira D. The effect of pomegranate (Punica granatum L.) byproducts and ellagitannins on the growth of human gut bacteria. J Agric Food Chem 2009;57:8344-9.

13.    มาลิน จุลศิริ และคณะสารสกัดจากพืชเพื่อแก้โรคท้องร่วง ท้องเดินรวมบทคัดย่องานวิจัยการแพทย์แผนไทยและทิศทางการวิจัยในอนาคต สถาบันการแพทย์แผนไทย, 2543. หน้า 186.

14.    กัลยา เจือจันทร์ จิโรจ ศศิปรียจันทร์ นันทวัน บุณยะประภัศร.  ผลของสารสกัดเปลือกผลทับทิมต่อเชื้อ Salmonella spp. ที่แยกได้จากไก่ : ค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่ฆ่าทำลายเชื้อ.  การประชุมวิชาการสมุนไพรไทย : โอกาสและทางเลือกใหม่ของการผลิตสัตว์, 15-16 มกราคม, กรุงเทพฯ, 2547. หน้า 48-51.

15.         Song W, Jiao S, Zhou J, Ye C. Microwaves assisted extraction of polyphenol from pomegranate peel and its antioxidant and antimicrobial activities. Xuandai Shipin keji 2008; 24(1): 23-7.

16.         Wang L, Jiao S, Lei M, Tang Y, Tang P, Chen X. Study on extraction of polyphenols from Punica granatum Linn. Peel and its antibacterial activity. Med Plant 2010;1(7):38-40, 44.

17.         Alanis AD, Calzada F, Cervantes JA, Torres J, Ceballos GM. Antibacterial properties of some plants used in Mexican traditional medicine for the treatment of gastrointestinal disorders.  J Ethnopharmacol 2005;100:153-7.

18.    มาลิน จุลศิริ.  ยาเตรียมสมุนไพรเพื่อรักษาโรคติดเชื้อและการติดเชื้อและการอักเสบ : การศึกษาในห้องปฏิบัติการ.  การสัมมนาเรื่อง สมุนไพรไทย : อาหาร ยา สารกำจัดศัตรูพืชและการส่งออก, 2 กันยายน, กรุงเทพฯ, 2547.

19.    ตรีชฎา ศิริรักษ์ ถนอมจิต สุภาวิตา กานดา ปานทอง ศุภยางค์ วรวุฒิคุณชัย.  ฤทธิ์ของสารสกัดหยาบจากเปลือกผลทับทิม (Punica granatum L.) ต่อการยับยั้งเชื้อก่อโรคกลุ่ม Gram-negative bacilli.  วารสารสงขลานครินทร์ วทท 2548;27(suppl.2):535-44.

20.    ศุภยางค์ วรวุฒิคุณชัย และ หลิน กิจพิพิธ.  ฤทธิ์ต้านเชื้อของสารสกัดสมุนไพรไทยต่อ clinical isolates ของ methicillin-resistant Staphylococcus aureus.  วารสารสงขลานครินทร์ วทท 2548;27(suppl.2):525-34.

21.    สุรศักดิ์ ลิ้มสุวรรณ ศิลาวรรณ วรรณมณี ศุภยางค์ วรวุฒิคุณชัย.  ฤทธิ์ของสมุนไพรไทยต่อการเกาะกลุ่มของ Escherichia coli O157:H7. วารสารสงขลานครินทร์ วทท 2548;27(suppl.2):545-54.

22.         Chulasiri M, Temsiririrkkul R, Boonchai S, Saralamp P, Pimsan N, Lohakarn P, Noonal A. A water soluble component with antimicrobial activity from pomegranate rind: antimicrobial potency and stability study.  Mahidol Univ J Pharm Sci 1995;22(1):1-7.

23.         Navarro V, Villarreal ML, Rojas G, Lozoya X. Antimicrobial evaluation of some plants used in Mexican traditional medicine for the treatment of infectious diseases.  J Ethnopharmacol 1996;53(3):143-7.

24.         Chansakoaw S, Yosprasit K, Tharavichitkul, Leelaporanpisid P. Topical antibacterial formulation from extract of Punica granatum.  The Sixth JSPS-NRCT Joint Seminar : Recent advances in natural medicine research, 2-4 December, Bangkok, Thailand, 2003.

25.    กัลยา เจือจันทร์ จิโรจ ศศิปรียจันทร์ นันทวัน บุณยะประภัศร.  ค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่ฆ่าทำลายเชื้อของสารสกัดเปลือกผลทับทิม (Punica granatum L.) ต่อเชื้อ Escherichia coli ที่แยกได้จากไก่.  วารสารสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 2548;15(2):1-7.

26.         Gritsanapan W, Chulasiri M. A preliminary study of antidiarrhreal plants: I, antibacterial acitivity.  Mahidol Univ J Pharm Sci 1983;10(4):199-23.

27.         Guevara JM, Chumpitez J, Valencia E. The in vitro action of plants on Vibrio cholerae.  Rev Gastroenterol Peru 1994;14(1):27-31.

28.         Hannan A, Rashid M, Shabbir A, Barkaat M, Salam S, Hafeez A. Anti-typhoid potential of  Punica granatum (pomegranate) – An in vitro study. Planta Med 2009;75:1072.

29.         Iqbal A, Arina ZB. Antimicrobial and phytochemical studies on 45 Indian medicinal plants against multi-drug resistant human pathogens. J Ethnopharmacol 2001;74:113-23.

30.    สุรีย์ ประเสริฐสุข มรกต สุกโชติรัตน์ผลของสารสกัดจากพืชสมุนไพรบางชนิดที่มีต่อการเจริญของแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคบิดการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 12, 20-22 ตุลาคม, กรุงเทพฯ, 2529. หน้า 344-5.

31.         Shan B, Cai Y-Z, Brooks JD, Corke H. Potential application of spice and herb extracts as natural preservatives in cheese. J Med Food 2011; 14(3): 284-90.

32.         Shan B, Cai Y-Z, Brooks JD, Corke H. Antibacterial and antioxidant effects of five spice and herb extracts as natural preservatives of raw pork. J Sci Food Agric 2009;89:1879-85.

33.         Avirutnant W, Pongpan A. The antimicrobial activity of some Thai flowers and plants.  Mahidol J Pharm Sci 1983;10(3):81-6.

34.         Alkofahi A, Masaadeh H, Al-Khalil S. Antimicrobial evaluation of some plant extracts of traditional medicine of Jordan. Alex J Pharm Sci 1996;10(2):123-6.

35.         Naovi SAH, Khan MSY, Vohora SB. Anti-bacterial, anti-fungal and anthelmintic investigations on Indian medicinal plants. Fitoterapia 1991;62(3):221-8.

36.         Chulasiri M. A water soluble component with antimicrobial activity from pomegranate rind: an ingredient in an antiseptic liquid soap. Thai J Phytopharm 1997;4(1):25-30.

37.         Panichayupakaranant P, Tewtrakul S, Yuenyongsawad S. Antibacterial, anti-inflammatory and anti-allergic activities of standardized pomegranate rind extract. Food Chem 2010;123:400-3.

38.         Panichayupakaranant P. Antibacterial activity of ellagic acid-rich pomegranate rind extracts. 58th International Congress and Annual Meeting of the Society for Medicinal Plant and Natural Product Research. 29 Aug - 2 Sep, Berlin, Germany, 2010

39.         Anesini C, Perez C. Screening of plants used in Argentine folk medicine for antimicrobial activity.  J Ethnopharmacol 1993;39(2):119-28.

40.         Perez C, Anesini C.  In vitro antibacterial activity of Argentine folk medicinal plants against Salmonella typhi.  J Ethnopharmacol 1994;44:41-6.

41.         Adamu HM, Abayeh OJ, Agho MO, et al. An ethnobotanical survey of Bauchi state herbal plants and their antimicrobial activity.  J Ethnopharmacol 2005;99:1-4.

42.         Desta B. Ethiopian traditional herbal drugs. Part II: Antimicrobial activity of 63 medicinal plants. J Ethnopharmacol 1993;39(2):129-39.

43.         Fabiola BH, Greisiele LP, Neviton RS, Aparicio GC, Celso VN, Benedito PDF.  Screening of some plants used in the Brazilian folk medicine for 14 the treatment of infectious diseases. Mem Inst Oswaldo Cruz 2002;97(7):1027-3115.

44.         Wadbua P, Siri S, Kitancharoen N, Phonimdaeng P. Thai medicinal plant extracts possessing anti-bacterial activity against catfish pathogens, Aeromonas sobria. Preceedings of the 32nd congress on science and technology of Thailand (STT. 32) 10-12 October, Queen Sirikit National Convention Center, Bangkok, 2006. p.317.

45.         Braga LC. Shupp JW, Cummings C, et al. Pomegranate extract inhibits Staphylococcus aureus growth and subsequent enterotoxin production. J Ethnopharmacol 2005;96:335-9.

46.         Menezes SMS, Cordeiro LN, Viana GSB. Punica granatum (pomegranate) extract is active against dental plaque. J Herb Pharmacother 2006;6(2):79-92.

47.         Aynehchi Y, Salehi Sormaghi MH, Shirudi M, Souri E. Screening of Iranian plants for antimicrobial activity.  Acta Pharm Suecica 1982;19(4):303-8.

48.         Misas CAJ, Hernandez NMR, Abraham AML. Contribution to the biological evaluation of Cuban plants. IV. Rev Cub Med Trop 1979;31(1):29-35.

49.         Nimri LF, Meqdam MM, Alkofahi A. Antibacterial activity of Jordanian medicinal plants.  Pharmaceutical Biol 1999;37(3):196-201.

50.         Alkofahi A, Batshoun R, Owais W, Najib N. Biological activity of some Jordanian medicinal plant extracts. Part II. Fitoterapia 1997;68(2):163-82.

51.         Collier WA, Van de Piji L. The antibiotic action of plants, especially the higher plants, with results with Indonesian plants.  Chron Nat 1949;105:8.

52.         Hemmun S, Soonthornchareonnon N. Phytochemical study and antibacterial activity of Punica granatum L. leaves. วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 2550;6(2):4.

53.         Nair R, Shah A, Baluja S, Chanda S. Comparison of antibacterial activities of some natural and synthetic compounds. Asian J Microbiol Biotech Environ Sci 2006;8(3):503-8.

54.         Sirotamarat S. Potential of medicinal plants and herbal tea products for antibacterial activity against diarrheal bacteria. Thai J Pharm Sci 2005;29(suppl.):82.

55.         Chansakoaw S, Leelapornpisid P, Tharavichitkul P, Yosprasit K. Antibacterial activity of Thai medicinal plants extracts on the skin infectious microorganisms.  The 3rd World Congress on Medicinal Plant and Aromatic Plants for Human Welfare, 3-7 Feb, Chiang Mai, Thailand, 2003.

56.         Voravuthikunchai SP, Limsuwan S. Medicinal plant extracts as anti-Escherichia coli O157:H7 agents and their effects on bacterial cell aggregation. J Food Prot 2006;69(10):2336-41.

57.         Sharma A, Chandraker S, Patel VK, Ramteke P. Antibacterial activity of medicinal plants against pathogens causing complicated urinary tract infections. Indian J Pharma Sci2009;71(2):136-9.

58.         Sharma A, Patel VK, Rawat S, Ramteke P, Verma R. Identification of the antibacterial component of some Indian medicinal plants against Klebsiella pneumoniae. Int J Pharmacy Pharm Sci 2010; 2(3): 123-7.

59.         Machado TDB, Leal ICR, Amaral ACF, et al. Antimicrobial ellagitannin of Punica granatum fruits.  J Brazil Chem Soc 2002;13(5):606-10.

60.         Arulmozhi V, Mirunalini S. Ellagic acid: a novel polyphenolic antioxidant and their therapeutic applications. Pharmacologyonline 2010; 3: 446-57.

61.         Machado TB, Pinto AV, Leal IC, Silva MG, Amaral AC, Kuster RM, Netto-dosSantos KR. In vitro activity of Brazilian medicinal plants, naturally occurring naphthoquinones and their analogues, against methicillin-resistant Staphylococcus aureus.  Int J Antimicrob Agents 2003;21(3):279-84.

62.         Naz S, Siddiqi R, Ahmad S, Rasool SA, Sayeed SA. Antibacterial activity directed isolation of compounds from Punica granatum. J Food Sci 2007;72(9):341-5.

63.         Vasconcelos LC, Sampaio FC, Sampaio MC, Pereira MDO, Higino JS, Peixoto MH. Minimum inhibitory concentration of adherence of Punica granatum Linn (pomegranate) gel against S. mutans, S. mitis and C. albicans. Braz Dent J 2006;17(3):223-7.

64.         Dhawan BN, Patnaik GK, Rastogi RP, Singh KK, Tandos JS. Screening of Indian plants for biological activity. VI. Indian J Exp Biol 1977;15:208-19.

65.         Heber D, Seeram NP, Wyatt H, et al. Safety and antioxidant activity of a pomegranate ellagitannin-enriched polyphenol dietary supplement in overweight individuals with increased waist size. J Agric Food Chem 2007;55:10050-4.

66.         Desta B. Ethiopian traditional herbal drugs. Part I: Studies on the toxicity and therapeutic activity of local taenicidal medications. J Ethnopharmacol 1995;45(1): 27-33.

67.         Vidal A, Fallarero A, Pena BR, et al. Studies on the toxicity of Punica granatum L. (Punicaceae) whole fruit extracts. J Ethnopharmacol 2003;89(2-3):295-300.

68.         Jafri MA, Aslam M, Javed K, Singh S. Effect of Punica granatum Linn. (flowers) on blood glucose level in normal and alloxan-induced diabetic rats. J Ethnopharmacol 2000;70(3):309-14.

69.         Patel C, Dadhaniya P, Hingorani L, Soni MG. Safety assessment of pomegranate fruit extract: acute and subchronic toxicity studies. Food Chem Toxicol 2008;46:2728-35.

70.         Cerda B, Ceron JJ, Tomas-Baeberan FA, Espin JC. Repeated oral administration of high doses of the pomegranate ellagitannin punicalagin to rats for 37 days is not toxic.  J Agric Food Chem 2003;21(11):3493.

71.         Squillace G. Experimental chrome intoxication from tannic acid. Cat Boll Soc Med Cher Catania 1955;23:272-4.

72.         Singh SP, Lal MB. Toxic effect of Punica granatum fruit skin on the house sparrow (Passer domesticus Linn.).  J Sci Res Plants Med 1980;1(3-4):15-7.

73.         Corao GM, Cova JA, Perez J. Antistress effect of the pericarp extract from Punica granatum L. in human peripheral blood mononuclear cells. Ciencia 2004;12(4):276-82.

74.    Sánchez-Lamar A, Fonseca G, Fuentes JL, et al. Assessment of the genotoxic risk of Punica granatum L. (Punicaceae) whole fruit extracts. J Ethnopharmacol 2008;115:416-22.

75.         Meerts IATM, Verspeek-Rip CM, Buskens CAF, et al. Toxicological evaluation of pomegranate seed oil. Food Chem Toxicol 2009;47:1085-92.

76.         Gujral ML, Varma DR, Sareen KN. Oral contraceptives. Part I. Preliminary observations on the antifertility effect of some indigenous drugs. Indian J Med Res 1960;48:46-51.

77.         Prakash AO. Biological evaluation of some medicinal plant extracts for contraceptive efficacy.  Contracept Deliv Syst 1984;5(3):9-10.

78.         Prakash AO, Saxena V, Shukla S, et al. Anti-implantation activity of some indigenous plants in rats.  Acta Eur Ferti 1985;16(6):441-8.

79.         Desta B. Ethiopian traditional herbal drugs. Part III: Antifertility activity of 70 medicinal plants.  J Ethnopharmacol 1994;44(3):199-209.

80.         Prakash A, Mathur R. Screening of Indian plants for antifertility activity. Indian J Exp Biol 1976;14:623-6.

81.         Prakash AO, Shukla S, Mathur S, Saxena V, Mathur R. Evaluation of some indigenous plants for anti-implantation activity in rats.  Probe 1986;25(2):151-5.

82.         Prakash AO. Potentialities of some indigenous plants for antifertility activity. Int J Crude Drug Res 1986;24(1):19-24.

83.         Kamboj VP.  A review of Indian medicinal plants with interceptive activity.  Indian J Med Res 1988;4:336-55.

84.         Runnebaum B, Rabe T, Kiesel L, Prakash AO. Biological evaluation of some medicinal plant extracts for contraceptive efficacy in females. Future aspects in contraception. Part 2. Female contraception.  Boston:MTP Press, Ltd, 1984. p.115-28.

85.         Igea JM, Cuesta J, Cuevas M. Adverse reaction to pomegranate ingestion. Allergy 1991;46(6):472-4.

86.         Gaig P, Bartolomé B, Lleonart R, Ortega P G, Palacios R, Richart C. Allergy to pomegranate (Punica granatum). Allergy 1999;54:287-96.

87.         Damiani E, Aloia AM, Priore MG, Nardulli S, Ferrannini A. Pomegranate (Punica granatum) allergy: clinical and immunological findings. Ann Allergy Asthma Immunol 2009;103(2):178-80.

88.         Valsesshi R, Reseghetti A, Leghissa P, Cologni L, Cortinovis R. Immediate contact hypersentivity to pomegranate. Contact Dermatitis 1998; 38: 44-5.

89.         Gaig P, Botey J, Gutierrez V, Pena M, Eseverri JL, Marin A. Allergy to pomegranate (Punica granatum).  J Investig Allergol Clin Immunol 1992;2(4):216-8.

90.         วีณา ศิลปอาชา  ตำรายาพื้นบ้าน.  กรุงเทพฯ: โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง, 2529.

91.         ก. กุลฑล.   ตำรายาพื้นบ้าน.  กรุงเทพฯ: ปรีชาการพิมพ์, 2524.