1.  ชื่อสมุนไพร           ผักบุ้งทะเล

          ชื่อวิทยาศาสตร์ Ipomoea pes-caprae (L.) R.Br.

          ชื่อวงศ์           CONVOLVULACEAE

          ชื่อพ้อง           Ipomoea biloba  Forssk. subsp. pescaprae

                             Convolvulus pes-caprae  L.

          ชื่ออังกฤษ        beach morning-glory, goat's foot creeper

          ชื่อท้องถิ่น        ละบูเลาห์

 

2. ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

          ไม้ล้มลุก เลื้อยตามผิวดิน มักพบในพื้นที่ใกล้ทะเล ทั้งต้นมียางขาว ใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน กว้าง 7-11 เซนติเมตร ยาว 5-8 เซนติเมตร แผ่นใบค่อนข้างหนา โคนใบรูปหัวใจ ปลายเว้าลึก ดอกออกเป็นช่อ ตามซอกใบ ช่อละ 4-6 ดอก กลีบดอกสีม่วงชมพู โคนเชื่อมติดกันเป็นถ้วย ปลายบานออกคล้ายปากแตร ผลเป็นผลแห้ง แตกได้ รูปกลมหรือรูปไข่

 

3.  ส่วนที่ใช้เป็นยาและสรรพคุณ

          -ส่วนใบ           รักษาอาการพิษจากแมงกะพรุน

 

4. สารสำคัญที่ออกฤทธิ์

          Beta-damascenone และ E-ehytol มีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดคลายตัวเป็นผลให้การอักเสบลดลง (1)   สารออกฤทธิ์ลดการอักเสบอื่น ได้แก่ 2-hydroxy-4, 4, 7-trimethyl-1-(4H)-naphthalenone, (-)-mellein, eugenol (2, 3), 4-vinyl guaiacol (2), actinidols Ia และ Ib (3) ซึ่งออกฤทธิ์ต้านพรอสตาแกลนดิน (2)

 

5. ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา

          5.1   ฤทธิ์ต้านฮีสตามีน

                 ส่วนสกัดที่เป็นไขมันที่ไม่สามารถทำปฏิกิริยาเกิดเป็นสบู่ได้ (unsaponifiable fraction) และสารที่มีผลึกรูปเข็มสีขาวซึ่งได้จากสารสกัดด้วยปิโตรเลียมอีเทอร์จากใบ และน้ำคั้นจากใบสด มีฤทธิ์ต้านฮีสตามีนเมื่อทดสอบกับผิวหนัง แต่ส่วนสกัดอื่น ๆ และส่วนสกัดที่เป็นเมือกจากสารสกัดด้วยน้ำไม่พบว่ามีฤทธิ์ต้านฮีสตามีน (4) 

       ครีมที่มีสารสกัดจากใบผักบุ้งทะเลในความเข้มข้นร้อยละ 1 จะมีฤทธิ์ถอนพิษแมงกะพรุน พบว่าเมื่อใช้ครีมทาทันทีในวันแรกที่โดนแมงกะพรุนพิษ ตุ่มแดงและอาการคันจะลดลงและหายไปภายใน 2 วัน ถ้าใช้ยาในรายที่มีพิษเป็นแผลเรื้อรัง พบว่าแผลจะหายไปร้อยละ 50 ภายใน 1 สัปดาห์ และหายสนิทภายใน 1-1.5 เดือน (5, 6)  

          5.2               ฤทธิ์ลดการอักเสบ

                 สารสกัดด้วยอีเทอร์และเอทานอลจากใบ (7, 8) มีฤทธิ์ลดการอักเสบ (7, 8) โดยออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างพรอสตาแกลนดิน (8)

          5.3   ฤทธิ์แก้ปวด

       เมื่อฉีดสารสกัดด้วยเอทิลอะซีเตทและน้ำจากส่วนเหนือดินเข้าช่องท้องหนูเม้าส์จะลดอาการปวดที่ถูกกระตุ้นโดยกรดอะซิติกและฟอร์มาลินได้   การให้หนูกินสารสกัดด้วยเมทานอลจะลดอาการปวดได้ใกล้เคียงกับแอสไพรินหรือพาราเซตามอล  สารสกัดด้วยเมทานอลและสารสกัดด้วยน้ำไม่ว่าจะให้โดยการฉีดเข้าช่องท้องหรือให้กินจะลดอาการปวดในหนูเม้าส์ได้เช่นเดียวกับการฉีดสารสกัดด้วยเอทานอลจากส่วนเหนือดินเข้าช่องท้องของหนูเม้าส์

 

6. อาการข้างเคียง

          ยังไม่มีรายงาน

 

7. ความเป็นพิษทั่วไปและต่อระบบสืบพันธุ์

7.1  การทดสอบความเป็นพิษ

                 เมื่อป้อนสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ร้อยละ 95 สารสกัดด้วยน้ำหรือสารสกัดด้วยปิโตรเลียมอีเทอร์จากใบผักบุ้งทะเลให้สุนัข ไม่พบว่าเกิดพิษ (9) และเมื่อป้อนสารสกัดด้วยน้ำจากทั้งต้นให้แมวที่ท้อง ไม่พบความเป็นพิษ (10) เช่นเดียวกับหนูแรทที่กินสารสกัดจากใบผักบุ้งทะเล (11) สำหรับการทดสอบความเป็นพิษเฉพาะที่พบว่าสารสกัดจากใบผักบุ้งทะเลไม่ระคายเคืองผิวหนังทั้งผิวหนังธรรมดาและผิวหนังที่ขูดถลอกของกระต่าย (11)

7.2  ฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์

                 สารสกัดจากใบผักบุ้งทะเลยังไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ต่อ Salmonella typhimurium TA98 และ TA100 (11)

 

8.  วิธีการใช้ผักบุ้งทะเลรักษาอาการพิษจากแมงกะพรุน

8.1   ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สาธารณสุขมูลฐาน)

       ใช้ทรายขัดบริเวณที่โดนพิษแมงกะพรุนเพื่อเอาเมือกของแมงกะพรุนออกไปก่อน แล้วใช้ใบขยี้ทาลดการอักเสบจากพิษแมงกะพรุน (12)         

8.2   ยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ

                            ไม่มี

 

เอกสารอ้างอิง

1.             Prongprayoon U, Baeckstrom P, Jacobsson U, Lindstrom M, Bohlin L.  Antispasmodic activity of b-damasacenone and E-phytol isolated from Ipomoea pes-caprae. Planta Med 1992;58:19-21. 

2.             Pongprayoon U, Baeckstrom P, Jacobsson U, Lindstrom M, Bohlin L. Compounds inhibiting prostaglandin synthesis isolated from Ipomoea pes-caprae. Planta Med 1991;57:515-8. 

3.             Pongprayoon U, Bohlin L, Baeckstrom P, Jacobsson U, Lindstrom M.  Inhibition of ethyl phenylpropiolate-induced rat ear oedema by compounds isolated from Ipomoea pes-caprae (L.) R. Br. Phytother Res 1992;6:104-7.

4.             Wasuwat S, Dhama-Upakorn P. Preliminary investigation of pharmacologically active principles in Ipomoea pes-caprae (Linn.) Roth. (Phakbungtha-le). Research Project No. 17/8, Report No. 1, Abstr Sci Res Counc Thailand, 1967.

5.             Pongprayoon U, Wasuwat S, Sunthornpalin P, Bohlin L.  Chemical and pharmacological studies of the Thai medicinal plant Ipomoea pes-caprae (Phakbungtha-le).  The First Princess Chulabhorn Science Congress, 10-13 December, Bangkok, Thailand, 1987. 

6.             พัชรี สุนทรพะลิน  ศศิธร วสุวัต. การใช้ครีมผักบุ้งทะเลรักษาผิวหนังอักเสบที่เกิดจากแมงกะพรุน. สารศิริราช 2528;37(5):329-38.

7.             Pongprayoon U, Bohlin L, Baeckstrom P, Jacobsson U, Linstrom M, Soonthornsaratune P, Wasuwat S. Anti-inflammatory activity of Ipomoea pes-caprae. Planta Med 1990;56:661. 

8.             Andersson Dunstan C, Noreen Y, Serrano G, Cox PA, Perera P, Bohlin L.  Evaluation of some Samoan and Peruvian medicinal plants by prostaglandin biosynthesis and rat ear oedema assays. J Ethnopharmacol 1997;57:35-56.

9.             Christensin BV, Reese JA. A study of the leaves of Ipomoea pes-caprae.  J Am Pharm Assoc 1938;27(3):195-9. 

10.         Owalina GE, Jenkins GL. A phytochemical study of Ipomoea pes-caprae. J Am Pharm Assoc 1938;27:585 

11.    ศศิธร วสุวัต  พัชรี สุนทรพะลิน. ข้อมูลงานวิจัยสมุนไพรผักบุ้งทะเล Ipomoea pes-caprae (Linn.) Roth เป็นยาแก้แพ้พิษฮีสตามีนและพิษแมงกะพรุน. รายงานการวิจัย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย.

12.         . กุลฑลยาพื้นบ้านกรุงเทพฯ: ปรีชาการพิมพ์, 2524.