1. ชื่อสมุนไพร ตะไคร้หอม
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cymbopogon nardus (Linn.) Rendle,
ชื่อวงศ์ POACEAE (GRAMINEAE)
ชื่อพ้อง Cymbopogon winterianus Jowitt.
ชื่ออังกฤษ Citronella grass
ชื่อท้องถิ่น จะไคมะขูด, ตะไครมะขูด, ตะไคร้แดง
2. ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
พืชล้มลุก มีอายุหลายปี มีเหง้าใต้ดิน ลำต้นตั้งตรง ออกเป็นกอ มีกลิ่นหอม ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปยาวแคบ โคนใบแผ่ออกเป็นกาบ มีลิ้นใบรูปไข่ มีขน อยู่ตรงรอยต่อระหว่างใบกับกาบมีแผ่น ดอกช่อขนาดใหญ่ สีน้ำตาลแดง แทงออกจากกลางต้น ใบประดับลักษณะคล้ายกาบ ดอกช่อเชิงลด แยกเป็นหลายแขนง ออกเป็นคู่ ช่อย่อยมีใบประดับที่โคน 2 ใบ ใบนอกมีหยัก ด้านนอกแบนเขอบแผ่ออกเป็นปีกแคบๆ และขอบด้านบนสาก ใบในรูปเรือ ปลายแหลมมีเส้นตามยาว 1-3 เส้น ขอบมีขน แต่ละดอกย่อยมีใบประดับ 2 แผ่น เรียกกาบบนและกาบล่าง กาบบนรูปขอบขนาน เนื้อบาง ขอบมีขน กาบล่างรูปยาว แคบ มีขนแข็งและปลายแหลม ผลเป็นผลแห้งเมล็ดเดียว ไม่แตก
3. ส่วนที่ใช้เป็นยาและสรรพคุณ
- ทั้งต้น ไล่ยุงและแมลง
4. สารสำคัญที่เป็นสารออกฤทธิ์
น้ำมันตะไคร้หอมมีส่วนประกอบที่สำคัญในการออกฤทธิ์ คือ camphor (1, 2), cineol (3-5), eugenol (6-9), citral (7), linalool (10), citronellal และ geraniol (11-13)
5. ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
5.1 ฤทธิ์ไล่ยุงและแมลง
น้ำมันตะไคร้หอม (Citronella oil) ซึ่งเป็นน้ำมันหอมระเหยสกัดจากต้นตะไคร้หอมสามารถใช้ไล่แมลงได้ (14) สามารถป้องกันยุงลาย ยุงก้นปล่อง และยุงรำคาญกัดได้นานประมาณ 2 ชั่วโมง (15) ครีมที่มีส่วนผสมของน้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้หอมร้อยละ 14 สามารถทาป้องกันยุงรำคาญได้ในอาสาสมัคร 13 คน จากทั้งหมด 20 คน (16) และมีประสิทธิภาพในการป้องกันยุงกัดได้นาน 2 ชั่วโมง ซึ่งใกล้เคียงกับครีมจากสารสังเคราะห์ (dimethyl phthatate ร้อยละ 20 และ diethyl toluamide ร้อยละ 5 (17)) ครีมที่มีน้ำมันจากใบตะไคร้หอม ความเข้มข้นร้อยละ 1.25, 2.5 และ 5 มีประสิทธิภาพในการป้องกันยุงก้นปล่องได้นาน 2 ชั่วโมง และที่ความเข้มข้นร้อยละ 10 จะป้องกันได้มากกว่า 4 ชั่วโมง ตำรับครีมที่มีส่วนผสมของน้ำมันข่าร้อยละ 5 น้ำมันตะไคร้หอมร้อยละ 2.5 และวานิลลินร้อยละ 0.5 มีประสิทธิภาพในการป้องกันยุงกัดได้นานกว่า 6 ชั่วโมง (18, 19)
น้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้หอม สามารถป้องกันยุงที่เป็นพาหะของโรคมาลาเรีย ไข้เลือดออก และเท้าช้างได้นาน 8-10 ชั่วโมง (20) ความเข้มข้นที่ให้ผลป้องกันยุงลายได้ร้อยละ 50 (EC50) และร้อยละ 95 (EC95) เท่ากับร้อยละ 0.031 และ 5.259 ตามลำดับ น้ำมันหอมระเหยความเข้มข้นร้อยละ 1 สามารถป้องกันยุงกัดได้ร้อยละ 75.19 (21) สารสกัดด้วยเอทานอลร้อยละ 90 จากตะไคร้หอม และสารสกัดตะไคร้หอมที่ผสมกับน้ำมันมะกอกและน้ำมันหอมระเหยกลิ่นชะมดเช็ด เมื่อนำมาทดสอบกับยุงลายและยุงรำคาญตัวเมีย จะมีประสิทธิภาพในการไล่ยุงได้นานประมาณ 2 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังมีผลในการควบคุมและกำจัดลูกน้ำยุงได้ด้วย (22)
น้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้หอมความเข้มข้นร้อยละ 10 มีฤทธิ์ไล่ตัวอ่อนของเห็บได้นานถึง 8 ชั่วโมง (23) และสามารถไล่ตัวอ่อนของเห็บพันธุ์ Amblyomma cajennense ได้ด้วยค่า EC50 และ EC90 เท่ากับ 0.089 และ 0.343 มิลลิกรัม/ตารางเซ็นติเมตร และที่ความเข้มข้น 1.1 มิลลิกรัม/ตารางเซ็นติเมตร ไล่ตัวอ่อนของเห็บได้ร้อยละ 90นาน 35 ชั่วโมง (24) นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ไล่แมลงที่ทำลายเมล็ดข้าวที่เก็บไว้ โดยไม่มีผลต่อคุณภาพของข้าว (25) นอกจากนี้ตะไคร้หอมยังมีฤทธิ์ไล่แมลงวัน (26) ผีเสื้อกลางคืน (27) และพวกแมลงบินต่างๆ ได้ด้วย (28)
5.2 ฤทธิ์ฆ่าแมลง
น้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้หอมมีฤทธิ์ฆ่าตัวอ่อนของยุงก้นปล่องและยุงรำคาญได้ โดยระยะเวลาที่ตัวอ่อนตายครึ่งหนึ่งเท่ากับ 1.2 และ <0.2 นาที ตามลำดับ (29) และมีฤทธิ์ป้องกันการวางไข่ด้วงถั่ว (Callosobruchus sps) (11) สามารถฆ่าด้วงถั่ว (12, 30, 31) และแมลงวันได้ (12)
สารสกัดตะไคร้หอมที่ความเข้มข้น 100 ส่วนในล้านส่วน (part per million, ppm) จะให้ผลน้อยมากในการควบคุมแมลงศัตรูกะหล่ำ (32) แต่จะมีผลทำให้ไรแดงกุหลาบตายร้อยละ 95 ภายใน 20.70 ชั่วโมง (33) นอกจากนี้สารสกัดด้วยเอทานอลร้อยละ 10 จากต้นตะไคร้หอมแห้ง 50 กรัม/ลิตร จะให้ผลดีในการลดปริมาณของหมัดกระโดดซึ่งเป็นแมลงศัตรูคะน้า แต่มีแนวโน้มที่จะทำให้น้ำหนักของคะน้าลดลง (34) แชมพูที่มีส่วนผสมของสารสกัดตะไคร้หอม สามารถฆ่าเห็บ หมัดในสัตว์เลี้ยงได้ (35) สารสกัดตะไคร้หอมผสมกับสารสกัดจากเมล็ดสะเดา และข่า ในสัดส่วน 10 มิลลิลิตร/น้ำ 1 ลิตร มีผลลดการเข้าทำลายของเพลี้ยอ่อนและหนอนเจาะฝักซึ่งเป็นแมลงศัตรูถั่วฝักยาว แต่ไม่สามารถควบคุมการเข้าทำลายของแมลงวันเจาะต้นถั่วได้ (36)
6. อาการข้างเคียง
ยังไม่มีรายงาน
7. ความเป็นพิษทั่วไปและต่อระบบสืบพันธุ์
7.1 การทดสอบความเป็นพิษ
เมื่อฉีดสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์และน้ำในอัตราส่วน 1:1 จากส่วนของต้นขนาด 1 กรัม/กิโลกรัม เข้าทางช่องท้องหนูเม้าส์ ไม่พบความเป็นพิษ (37)
8. วิธีการใช้ตะไคร้หอมไล่ยุง
8.1 ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สาธารณสุขมูลฐาน)
1. ใช้ต้นตะไคร้หอม ทุบวางไว้ข้างๆ บริเวณที่อยู่
2. ใช้สารสกัดตะไคร้หอมด้วยแอลกอฮอล์ ชุบสำลีวางไว้ใกล้ๆตัว
8.2 ยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ
ไม่มี
ยาสำเร็จรูป สเปรย์น้ำมันตะไคร้หอมเตรียมในรูปแบบนาโนอิมัลชั่น เพื่อให้มีการปลดปล่อยอย่างช้าๆ และมีประสิทธิภาพในการป้องกันยุงกัดนานขึ้น (38)
เอกสารอ้างอิง
1. Masui K, Kochi H. Camphor and tricyclodecane in deodorants and insect repelling compositions. Patent: Japan Kokai-74 1974;100(239):4.
2. Schearer WR. Components of oil of Tancy (Tanacetum vulgare) that repel colorado potato beetes (Leptinotarsa Decemlineata). J Nat Prod 1984;476:964-9.
3. Scriven R, Meloan CE. Determining the active component in 1,3,3-trimethyl-2-oxabicyclo [2,2,2] octane (cineole) that repels the American cockroach, Periphaneta americanna. Ohio J Sci 1984;843:85-8.
4. Verma MM. The isolation and identification of a cockroach repellent in Bay leaves and a flourescence method for determination of protein in wheat. Diss Abstr Int B 1981;41:4514.
5. Hwang YS, Wu KH, Kumamoto J, Axclrod H, Mulla MS. Isolation and identification of mosquito repellents in Artemisia vulgaris. J Chem Ecol 1985;119:1297-306.
6. Chogo JB, Crank G. Chemical composition and biological activity of the Tanzanian plants, Ocimum suave. J Nat Prod 1981;433:308-11.
7. Vartak PH, Sharma RN. Vapour toxicity and repellence of some essential oils and terpenoids to adults of Ades Algypti (L) (Doptera: Culicidae). Indian J Med Res 1993;973:122-7.
8. Tunon H, Thoreell W, Bohlin L. Mosquito repelling activity of compounds occurring in Achillea Millefolium L. (Astraceae). Econ Bot 1994;482:111-20.
9. Marcus C, Lichtenstein EP. Biologically active components of anise: toxicity and interactions with insecticides in insects. J Agr Food Chem 1979;276:1217-23.
10. Bower WS, Oretego F, You XQ, Evans PH. Insect repellants from Chinese pickly ash Zanthoxylum bungenanum. J Nat Prod 1993;566: 935-8.
11. Nyamador WS, Ketoh GK, Amevoin K, Nuto Y, Koumaglo HK, Glitho IA. J Stored Prod Res 2010;46:48-51.
12. Samarasekere R, Kalhari KS, Weerasinghe IS. Insecticidal activity of essential oils of Ceylon Cinnamomum and Cymbopogon species against Musca domestica. J Essent Oil Res. 2006;18:352-4.
13. Campbell C, Gries R, Gries G. Forty-two compounds in eleven essential oils elicit antennal responses from Aedes aegypti. Entomol Exp Appl 2011;138:21-32.
14. Cos ND. Flea treatment composition for animals. US Patent R 193,986,1980.
15. Phasomkusolsil S, Soonwera M. Insect repellent activity of medicinal plant oil against Aedes aegypti (Linn.), Anopheles minimus (Theobald) and Culex quinquefasciatus Say Based on protection time and biting rate. Southeast Asian J Trop Med Public Health 2010;41:831-40.
16. สมยศ จารุวิจิตรวัฒนา และคณะ. ผลของการใช้ครีมตะไคร้หอมในการป้องกันยุงเปรียบเทียบกับครีมที่ไม่มีตัวยา. หนังสือรวบรวมผลงานวิจัยโครงการพัฒนาการใช้สมุนไพรและยาไทยทางคลินิก (2525-36) มหาวิทยาลัยมหิดล, 2536. หน้า 63-8.
17. ศศิธร วสุวัต และคณะ. ประสิทธิภาพป้องกันยุงกัดของครีมตะไคร้หอม วท. วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2533;5(2):62-7.
18. กิตติพันธ์ ตันตระรุ่งโรจน์. การพัฒนาตำรับยาทากันยุงจากสมุนไพร. รวมบทคัดย่องานวิจัยการแพทย์แผนไทยและทิศทางการวิจัยในอนาคต สถาบันการแพทย์แผนไทย, 2543.
19. วรรณภา สุวรรณเกิด และ กิตติพันธ์ ตันตระรุ่งโรจน์. การศึกษาประสิทธิภาพของน้ำมันหอมระเหยจากสมุนไพรในการป้องกันยุงกัด. วารสารโรคติดต่อ. 2537;20(1):4-11.
20. Tyagi BK, Shahi AK, Kaul BL. Evaluation of repellant activities of Cymbopogon essential oils against mosquito vectors of malaria, filariasis, and dengue fever in India. Phytomedicine 1998;5(4):324-9.
21. สมเกียรติ บุญญะบัญชา กสิน ศุภปฐม เอื้อมเดือน ศรีสุระพัตร. การทดสอบประสิทธิภาพในการป้องกันยุงลาย (Aedes aegypti L.) ด้วยน้ำมันหอมระเหย 6 ชนิด โดยใช้เครื่องทดสอบสารป้องกันยุงที่ประดิษฐ์ขึ้น. วารสารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 2540;39(1):61-6.
22. เนาวรัตน์ ศุขะพันธุ์ สมคิด แก้วมณี ไพโรจน์ เปรมปรีดิ์ สุชาติ อุปถัมภ์ ยุพา รองศรีแย้ม. ประสิทธิภาพการแสดงฤทธิ์ของสารสกัดสมุนไพรในการขับไล่ยุง. การประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 19, 27-29 ตุลาคม, หาดใหญ่, 2536. หน้า480-1.
23. Thorsell W, Mikiver A, Tunon H. Repelling properties of some plant materials on the tick Ixodes ricinus L. Phytomedicine 2006;13:132-4.
24. Soares SF, Borges LM, de Sousa Braga R, Ferreira LL, Louly CC, Tresvenzol LM, de Paula JR, Ferri PH. Repellentactivity of plant-derived compounds against Amblyom macajennense (Acari: Ixodidae) nymphs. Vet Parasitol 2010;167:67-73.
25. Paranagama P, Abeysekera T, Nugaliyadde L, Abeywickrama K. Effect of the essential oils of Cymbopogon citratus, C. nardus and Cinnamomum zealanicum on pest incidence and grain quality of rough rice (paddy) stored in an enclosed seed box. J Food Agric Environ 2003;1(2):134-6.
26. Chumnanvej N, Leetranont M, Leangtrakoon S. Mitigation of Musca domestica with medicinal plant extracts. The 34th Congress on Science and Technology of Thailand on Dec 31- Nov 2, Bangkok, Thailand, 2008.
27. Sinchaisri N, Roongsook D, Areekul S. Botanical repellant against the diamonback moth, Plutella xylostella L. Kasetsart J 1988;22(5):71-4.
28. Sugiura M, Ishizuka T, Neishi M. Flying insect repellents containing essential oils. Patent: Jpn Kokai Tokkyo Koho JP 2002 173,404, 2002:7pp.
29. Phasomkusolsil S, Soonwera M. Potential larvicidal and pupacidal activities of herbal essential oils against Culex quinquefesciatus Say and Anopheles minimus (Theobald). Southeast Asian J Trop Med Public Health 2010;41:1342-51.
30. Ketoh GK, Koumaglo HK, Glitho IA, Auger J, Huignard J. Essential oils residual effects on Callosobruchus maculatus (Coleoptera: Bruchidae) survival and female reproduction and cowpea seed germination. Int J Trop Insect Sci 2005;25(2):129-33.
31. Ketoh GK, Glitho AI, Huignard J. Susceptibility of the bruchid Callosobruchus maculatus (Coleoptera: Bruchidae) and its parasitoid Dinarmus basalis (Hymenoptera: Pteromalidae) to three essential oils. J Economic Entomology 2002;95(1):174-82.
32. ชาญณรงค์ ศรีทรงเมือง. การจัดการแมลงศัตรูพืชตระกูลกะหล่ำภายในสภาพโรงเรือนมุ้งตาข่าย. รายงานการวิจัย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, 2002.
33. กนก อุไรสกุล. การใช้สมุนไพรบางชนิดยับยั้งการเจริญเติบโตของไรแดงกุหลาบ. รายงานการวิจัย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, 2002.
34. สุรัตน์วดี จิวะจินดา ชัยณรงค์ รัตนกรีฑากุล อุดม แก้วสุวรรณ์. การควบคุมแมลงศัตรูผักโดยสารสกัดจากพืช. สรุปผลการดำเนินงานวิจัย ทุนอุดหนุนวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โครงการวิจัย KIP (KURDI INITIATED PROJECT) ประจำปี 2536, 16-19 พฤษภาคม ณ ห้องประชุมคณะวิศวกรรมศาสตร์, 2537. หน้า101-3.
35. วสุ วิฑูรย์สฤษฎ์ศิลป์ ศุทธิชัย พจนานุภาพ. แชมพูสมุนไพรสำหรับสัตว์เลี้ยง.โครงการพิเศษ คณะเภสัชศาสตร์, กรุงเทพ: มหาวิทยาลัยมหิดล, 2545.
36. อรัญ งามผ่องใส สุนทร พิพิธแสงจันทร์ วิภาวดี ชำนาญ. การใช้สารฆ่าแมลงและสารสกัดจากพืชบางชนิดควบคุมแมลงศัตรูถั่วฝักยาว. วารสารสงขลานครินทร์ 2546;25(3):307-16.
37. Dhar MLOS, Dhar MN, Dhawan BN, Mehrotra BN, Srimal RC, Tandon JS. Screening of Indian plants for biological activity. Part IV. Indian J Exp Biol 1973;11:43.
38. Sakulku U, Nuchuchua O, Uawongyart N, Puttipipatkhachorn S, Soottitantawat A, Ruktanonchai U. Characterization and mosquito repellent activity of citronella oil nanoemulsion. Int J Pharm 2009;375:105-11.