1. ชื่อสมุนไพร พญายอ
ชื่อวิทยาศาสตร์ Clinacanthus nutans (Burm.f.) Lindau
ชื่อวงศ์ ACANTHACEAE
ชื่อพ้อง Clinacanthus burmanni Nees
ชื่ออังกฤษ ไม่มี
ชื่อท้องถิ่น ผักมันไก่ ผักลิ้นเขียด พญาปล้องคำ พญาปล้องดำ พญายอ โพะโซ่จาง เสลดพังพอนตัวเมีย
2. ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้พุ่มรอเลื้อย ลำต้นและกิ่งก้านเกลี้ยงเป็นมัน สูงได้ถึง 3 เมตร ใบเดี่ยวออกเรียงตรงกันข้าม รูปขอบขนานหรือขอบขนานแกมใบหอก กว้าง 2-3 เซนติเมตร ยาว 7-9 เซนติเมตร โคนใบมน ปลายใบแหลม ก้านใบยาว 0.5 เซ็นติเมตร ดอกเป็นช่อ ออกเป็นกระจุกที่ปลายยอด กลีบดอกสีส้มแดงเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว ปลายแยกเป็น 2 ปาก ยาว 3-4 เซนติเมตร ไม่ติดฝัก
3. ส่วนที่ใช้เป็นยาและสรรพคุณ
-ส่วนใบ รักษาอาการเนื่องจากแมลงกัดต่อยและโรคเริม
4. สารสำคัญที่ออกฤทธิ์
สารฟลาโวนอยด์ มีฤทธิ์ลดการอักเสบ สารกลุ่ม monoglycosyl diglycerides เช่น 1,2-O-dilinolenoyl-3-O-b-d-glucopyranosyl-sn-glycerol และสารกลุ่ม glycoglycerolipids จากใบ มีฤทธิ์ยับยั้งไวรัสเริม
5. ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
5.1 ฤทธิ์ลดการอักเสบ
เมื่อป้อนสารสกัดจากใบด้วยเอ็นบิวทานอลให้หนูแรท (1,2) หรือฉีดสารสกัดด้วยน้ำจากใบเข้าช่องท้องของหนูแรท (3) จะลดการอักเสบของข้อเท้าหนูแรทที่ทำให้บวมด้วยสารคาราจีแนน (carrageenan) ได้ (1-3) ตำรับยาที่มีพญายอ 5% ใน cold cream และสารสกัดด้วยเอทานอลจากใบ เมื่อนำมาทาเฉพาะที่ให้หนูแรท จะสามารถลดการอักเสบเรื้อรังได้ (4) แต่เมื่อใช้สารสกัดด้วยนเอ็นบิวทานอลทาที่ผิวหนังจะไม่ได้ผล (2)
5.2 ฤทธิ์ลดอาการปวด
เมื่อให้หนูเม้าส์กินสารสกัดด้วยเอ็นบิวทานอลจากใบ จะลดความเจ็บปวดของหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้ปวดด้วยกรดอะซีติค โดยสารสกัดความแรง 90 มิลลิกรัม/กิโลกรัม จะมีฤทธิ์ใกล้เคียงกับเฟนนิวบิวทาโซนขนาด 100 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (5) ส่วนสารสกัดด้วยคลอโรฟอร์ม (2) สารสกัดด้วยน้ำ และสารสกัดด้วยเอทานอล 50% จากใบ (3) ไม่มีผลลดความเจ็บปวด (2, 3)
5.3 ฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัส
5.3.1 ไวรัสเริม
สารสกัดด้วยเฮกเซน บิวทานอล และเอทิลอะซิเตทจากใบ มีฤทธิ์ต้านไวรัสเชื้อเริม HSV-1 และเมื่อนำไปทำเป็นตำรับเจลโดยใช้สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ที่ความเข้มข้น 4% และใช้ carbopol 940 เป็นสารก่อเจล พบว่า มีฤทธิ์ต้านไวรัสได้ดีและไม่เป็นพิษต่อเซลล์ ในขณะที่เมื่อใช้สารก่อเจล poloxamer 407 จะมีพิษต่อเซลล์ (6)
จากรายงานการรักษาผู้ป่วยโรคเริมที่อวัยวะสืบพันธุ์ชนิดเป็นซ้ำด้วยยาจากสารสกัดพญายอ เปรียบเทียบกับยา acyclovir และยาหลอก โดยให้ผู้ป่วยทายาวันละ 4 ครั้ง เป็นเวลา 6 วัน พบว่าไม่มีความแตกต่างในระยะเวลาการตกสะเก็ดของแผลผู้ป่วยที่ใช้ยาจากสารสกัดใบพญายอและยา acyclovir โดยแผลจะตกสะเก็ดภายใน 3 วัน และหายสนิทภายใน 7 วัน ซึ่งแตกต่างกับยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญ ยาที่สกัดจากใบพญายอไม่ทำให้เกิดการอักเสบ ระคายเคือง ในขณะที่ acyclovir ทำให้แสบ (7,8) นอกจากนี้มีการใช้ยาที่ทำจากพญายอ ในผู้ป่วยโรคเริม งูสวัด และแผลอักเสบในปาก พบว่าสามารถรักษาแผลและลดการอักเสบได้ดี (9)
5.3.2 ไวรัส Varicella zoster
สารสกัดจากใบพญายอออกฤทธิ์ทำลายไวรัส Varicella zoster ที่เป็นสาเหตุโรคงูสวัดและอีสุกอีใสได้โดยตรงก่อนที่ไวรัสจะเข้าสู่เซลล์ (10)
จากรายงานการรักษาผู้ป่วยโรคงูสวัดด้วยยาจากสารสกัดใบพญายอเปรียบเทียบกับยาหลอก โดยให้ทายาวันละ 5 ครั้ง เป็นเวลา 7-14 วัน จนกว่าแผลจะหาย พบว่าผู้ป่วยที่รักษาด้วยสารสกัดจากใบพญายอ แล้วมีแผลตกสะเก็ดภายใน 3 วัน และหายภายใน 7-10 วัน จะมีจำนวนมากกว่ากลุ่มที่รักษาด้วยยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ระดับความเจ็บปวดลดลงเร็วกว่ากลุ่มยาหลอก และไม่พบผลข้างเคียงใดๆ (11)
ยังไม่มีรายงาน
7. ความเป็นพิษทั่วไปและต่อระบบสืบพันธุ์
7.1 การทดสอบความเป็นพิษ
เมื่อป้อนสารสกัดด้วยเอ็นบิวทานอลจากใบให้หนูเม้าส์ พบว่ามีพิษน้อย แต่มีพิษปานกลางเมื่อฉีดเข้าช่องท้อง (2) ส่วนสารสกัดด้วยเอทานอลขนาด 1.3 กรัม/กิโลกรัม (หรือเทียบเท่าใบแห้ง 5.44 กรัม/กิโลกรัม) เมื่อป้อนเข้าทางปากหรือฉีดเข้าช่องท้องหนูเม้าส์ ไม่ทำให้เกิดอาการพิษใดๆ (12)
การศึกษาพิษกึ่งเรื้อรัง พบว่าเมื่อป้อนหนูแรทด้วยสารสกัดเอ็นบิวทานอลจากใบขนาด 270 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และ 540 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ทุกวัน นาน 6 สัปดาห์ พบว่าไม่มีผลต่อการเจริญเติบโต แต่น้ำหนักต่อมธัยมัสลดลง ในขณะที่น้ำหนักตับเพิ่มขึ้น ไม่พบความผิดปกติต่ออวัยวะอื่น และไม่พบอาการไม่พึงประสงค์ใดๆ (2) หนูแรทที่กินสารสกัดด้วยเอทานอลขนาด 1กรัม/กิโลกรัม ทุกวันนาน 90 วัน พบว่าการกินอาหารของกลุ่มที่ได้รับสารสกัดและกลุ่มควบคุมไม่ต่างกัน แต่น้ำหนักของหนูเพศผู้ที่ได้สารสกัดขนาด 1.0 กรัม/กิโลกรัม ต่ำกว่ากลุ่มควบคุม เกร็ดเลือดของหนูแรททั้งสองเพศสูงกว่า และครีอาตินินต่ำกว่ากลุ่มควบคุม แต่ไม่พบความผิดปกติด้านจุลพยาธิวิทยาของอวัยวะภายใน และพยาธิสภาพภายนอก (12)
8. วิธีการใช้พญายอรักษาอาการเนื่องจากแมลงกัดต่อยและเริม
8.1 ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สาธารณสุขมูลฐาน)
ใช้ใบขยี้ทาบริเวณที่ถูกแมลง สัตว์ กัดต่อย หรือเป็นเริม (13)
8.2 ยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ
ครีม ที่มีสารสกัดพญายอร้อยละ 4 5
สารละลาย (สำหรับป้ายปาก) ที่มีสารสกัดพญายอในกลีเซอรีนร้อยละ 2.5 4
โลชัน ที่มีสารสกัดพญายอร้อยละ 1.25
วิธีใช้ ทาบริเวณที่มีอาการ วันละ 5 ครั้ง
เอกสารอ้างอิง
1. Chuakul W. Chemical study of the antiinflammatory agents from the leaves of Phayaa Plong Thong, Clinacanthus nutans (Burm. f.) Lindau. M. Sc. Thesis, Faculty of Pharmacy, Bankok: Mahidol University, 1986.
2. Satayavivad J, Bunyapraphatsara N, Kitisiripornkul S, Tanasomwang W. Analgeric and anti-inflamatory activities of extracts of Clinacanthus nutans (Burm. f.) Lindau. Thai J Phytopharm 1996;3(1):7-17
3. สุภาณี พิมพ์สมาน วิไลลักษณ์ ชินะจิตร ฉันทนา อารมย์ดี สาธร พรตระกูลพิพัฒน์ จริยา หาญวจนวงศ์ พัชรีวัลย์ ปั้นเหน่งเพ็ชร พิสมัย เหล่าภัทรเกษม. การศึกษาศักยภาพของพญายอเพื่อประโยชน์ทางการเกษตรและคลินิก. การสัมมนาการเผยแพร่ผลงานวิจัยด้านการพัฒนาสมุนไพร, 31 กรกฏาคม 1 สิงหาคม, กรุงเทพฯ, 2546. หน้า 71-82.
4. Kanjanapothi D, Kaewpinit D, Rujjanawate C, Panthong A, Taesotikul T. Potential antidiabetic activity of Thai medicinal plants. The Fourth Princess Chulabhorn International Science Congress Chemicals in the 21st Century, 28 Nov 2 Dec, Bangkok, Thailand, 1999. p.164.
5. Kittisiripornkul S, Bunyapraphatsara N, Tanasomwong W, Satayavivad J. The antiinflammatory action and toxicological studies of Clinacanthus nutans. การประชุม Princess Congress I, 10-13 December, Bangkok, Thailand, 1987.
6. นิษฐกานต์ ภัทรกานต์ สุภาพร เบ็ญจสุพัฒนนันท์. การพัฒนาตำรับเจลเสลดพังพอนตัวเมียเพื่อใช้ภายนอก. โครงการพิเศษ คณะเภสัชศาสตร์, กรุงเทพ: มหาวิทยาลัยมหิดล, 2544.
7. สมชาย แสงกิจพร เครือวัลย์ พลจันทร ปราณี ธวัชสุภา มาลี บรรจบ ปราณี ชวลิตธำรง. การรักษาผู้ป่วยโรคเริมที่อวัยวะสืบพันธุ์ชนิดเป็นซ้ำด้วยยาจากสารสกัดของใบพญายอ. วารสารกรมการแพทย์ 2536;18(5);226-31.
8. Jayavasu C, Balachandra K, Sangkitporn S, et al. Clinical trial in the treatment of genital Herpes patients with Clinacanthus nutans extract. Com Dis J 1992;18(3):152-61.
9. สุภาภรณ์ ปิติพร, อุไรวรรณ โชติเกียรติ. การรักษาผู้ป่วยเริม งูสวัด และแผลอักเสบในปากด้วยยาเสลดพังพอนตัวเมีย. คลินิก 2532;5(4):310-2.
10. Thawaranantha D, Balachandra K, Jongtrakulsiri S, Chavalittumrong P, Bhumiswasdi J, Jayavasu C. In vitro antiviral activity of Clinacanthus nutans on Varicella-zoster virus. Siriraj Hosp Gaz 1992;44(4):285-91.
11. Sangkitporn S, Balachandra K, Bunjob M, Chaiwat S, Dechatiwongse Na-Ayudhaya T, Jayavasu C. Treatment of Herpes zoster with Clinacanthus nutans (Bi Phaya Yaw) extract. J Med Assoc Thai 1995;78(11):624-7.
12. ปราณี ชวลิตธำรง เอมมนัส อัตตวิชญ์ พัช รักษามั่น ปราณี จันทเพ็ชร. การศึกษาพิษของสารสกัดจากใบพญายอ. วารสารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 2538;37(4);323-8.
13. ศูนย์ข้อมูลสมุนไพร. สมุนไพรประจำตู้ยา. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2531.