1. ชื่อสมุนไพร           ฟ้าทะลายโจร

          ชื่อวิทยาศาสตร์ Andrographis paniculata ( Burm.f. ) Wall. ex Nees

          ชื่อวงศ์           ACANTHACEAE

          ชื่อพ้อง           ไม่มี

          ชื่ออังกฤษ        Creat, Kariyat, Indian Echinacea

          ชื่อท้องถิ่น        ซีปังกี  ฟ้าทะลาย  หญ้ากันงู

 

2. ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

          เป็นไม้ล้มลุกมีอายุฤดูเดียว สูง 30-60 เซนติเมตร ลำต้นตั้งตรง กิ่งก้านเป็นสันสี่เหลี่ยม ใบเป็นใบเดี่ยวมีสีเขียวเข้ม  ออกเรียงตรงข้าม รูปคล้ายใบหอก โคนใบและปลายใบแหลม ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ดอกออกเป็นช่อแยกแขนงออกที่ซอกใบและปลายกิ่ง  ดอกย่อยมีสีขาว กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด  ส่วนปลายกลีบแยกเป็น 2 ปาก ปากบนมี 3 กลีบ แต้มแถบสีม่วงแดง ปากล่างมี  2 กลีบ เกสรเพศผู้มี 2 อัน ผลเป็นฝักรูปทรงกระบอก ข้างในมีเมล็ดรูปไข่สีน้ำตาล

 

3. ส่วนที่ใช้เป็นยาและสรรพคุณ

          - ใบ              รักษาท้องเสีย ไอ เจ็บคอ ฝี

 

4. สารสำคัญที่เชื่อว่าเป็นสารออกฤทธิ์

          สารสำคัญในการออกฤทธิ์ คือ Andrographolide และอนุพันธ์ มีฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้ ต้านเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของอาการท้องเสีย (1) ช่วยรักษาอาการไอ เจ็บคอ ป้องกันและบรรเทาหวัด (2-4)

 

5. ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา

          5.1   ฤทธิ์ต่อระบบทางเดินอาหาร ช่วยรักษาอาการท้องเสีย

       จากการทดลองรักษาอาการท้องเสียในผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันและติดเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคบิด จำนวน 200 ราย เป็นชาย 98 ราย หญิง 102 ราย  ให้รับประทานผงฟ้าทะลายโจรบรรจุแคปซูล ขนาด 250 มิลลิกรัม โดยแบ่งเป็น 2 แผนการรักษา คือ 500 มิลลิกรัม ทุก 6 ชั่วโมง นาน 3 วัน และขนาด 1 กรัม ทุก 12 ชั่วโมง นาน 2 วัน พบว่าฟ้าทะลายโจรให้ผลการรักษาดีเช่นเดียวกับยาเตตร้าซัยคลิน ช่วยลดระยะเวลาที่ต้องนอนพักในโรงพยาบาล  ลดปริมาณน้ำเกลือที่ให้ทดแทน และลดปริมาณการถ่ายอุจจาระเหลวทั้งจำนวนครั้งและระยะเวลาที่ถ่ายได้ทั้ง 2 แผนการรักษา โดยการรับประทานในขนาด 1 กรัม จะได้ผลดีกว่าขนาด 500 มิลลิกรัม  อย่างไรก็ดีเมื่อเปรียบเทียบผลต่อเชื้ออหิวาตกโรคในอุจจาระผู้ป่วย ฟ้าทะลายโจรลดจำนวนเชื้ออหิวาตกโรคได้ไม่ดีเท่ากับเตตร้าซัยคลิน แต่ลดจำนวนเชื้อบิดได้ดีกว่า (5)

                 จากการศึกษาในอาสาสมัครสุขภาพดี 2 การศึกษา  โดยในการทดลองหนึ่งให้รับประทานฟ้าทะลายโจรขนาด 500 มิลลิกรัม 4 ราย  และ 1,000 มิลลิกรัม 6 ราย (18)  และอีกการทดลองให้รับประทานฟ้าทะลายโจรขนาด 1, 2, 3 และ 6 กรัม นาน 1 สัปดาห์ ทำการเจาะเลือดแยกซีรัมมาทดสอบฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย พบว่าฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของอาการท้องเสียได้น้อยกว่ายาแอมพิซิลลิน จากการทดลองในผู้ป่วย 3 ราย  รายที่หนึ่งรับประทานฟ้าทะลายโจรขนาด 500 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง ติดต่อกัน 2 วัน เจาะเลือดและปัสสาวะก่อนและหลังรับประทานยา 48 ชั่วโมง  รายที่สองรับประทานยาฟ้าทะลายโจรจากประเทศจีน 2 หลอดๆละ 250 มิลลิกรัม เจาะเลือดก่อนและหลังรับประทานยา 2 ชั่วโมง และรายที่สามฉีดฟ้าทะลายโจรขนาด 100 มิลลิกรัม ใน 2 มิลลิลิตร เข้ากล้ามเนื้อ แล้วทำการเจาะเลือดก่อนและหลังฉีดยา 1 ชั่วโมง นำเลือดและปัสสาวะไปทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย พบว่าฟ้าทะลายโจรทุกขนาด ทั้งกินและฉีด ไม่มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่เกี่ยวข้อง (6-7)

จากการศึกษาโดยใช้สารสกัดฟ้าทะลายโจรชนิดต่างๆ ในสัตว์ทดลองพบว่ามีฤทธิ์ลดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อลำไส้และท่อนำอสุจิ (8-14) การศึกษาในหลอดทดลองแสดงให้เห็นว่าฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคท้องเสีย อย่างไรก็ตามในบางการศึกษาให้ผลขัดแย้งกัน (15-28)            

          5.2   ฤทธิ์ต่อระบบทางเดินหายใจ ช่วยรักษาอาการไอ เจ็บคอ ป้องกันและบรรเทาหวัด

                 จากการศึกษาการใช้ฟ้าทะลายโจรเพื่อรักษาอาการไข้และเจ็บคอเปรียบเทียบกับยาลดไข้พาราเซตามอล พบว่ากลุ่มที่ได้รับฟ้าทะลายโจรขนาด 6 กรัมต่อวัน จะมีอาการไข้และการเจ็บคอลดลงในวันที่ 3 ซึ่งดีกว่ากลุ่มที่ได้รับฟ้าทะลายโจร 3 กรัม/วัน หรือได้รับพาราเซตามอล  แต่การติดตามผลเมื่อหลัง 7 วันพบว่าผลการรักษาไม่ต่างกัน (29) และฟ้าทะลายโจรไม่ให้ผลต้านเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการเจ็บคอ (6, 30)

                 ในการศึกษาเปรียบเทียบการใช้ฟ้าทะลายโจรเพื่อป้องกันหวัด ซึ่งทำในช่วงฤดูหนาว โดยให้นักเรียนรับประทานยาเม็ดฟ้าทะลายโจรแห้ง ขนาด 200 มิลลิกรัม/วัน ติดตามผลไปในเดือนแรกของการทดลองไม่พบความแตกต่างระหว่างกลุ่มที่รับประทานยาและกลุ่มควบคุม แต่หลังจาก 3 เดือนของการทดลองพบว่าอุบัติการณ์การเป็นหวัดในกลุ่มที่ได้ฟ้าทะลายโจรลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม โดยอัตราการเป็นหวัดในกลุ่มที่ได้รับฟ้าทะลายโจรเท่ากับร้อยละ 20  ในขณะที่กลุ่มควบคุมมีอัตราการเป็นหวัดเท่ากับร้อยละ 62   อาจสรุปได้ว่าฟ้าทะลายโจรให้ผลป้องกันของยา (the attributable protective effect) เท่ากับร้อยละ 33 (31) 

       จากการศึกษาเปรียบเทียบการใช้ฟ้าทะลายโจรเพื่อรักษาหวัด โดยใช้ยาเม็ด Kan-Jang (ใน 1 เม็ด ประกอบด้วยสารสกัดฟ้าทะลายโจร 85 มิลลิกรัม ประกอบด้วย andrographolide และ deoxyandrographolide 5.25 มิลลิกรัม และ Acanthopanax senticosus 9.7 มิลลิกรัม ซึ่งมี eleutheroside B และ E ร้อยละ 2) ในผู้ป่วยโรคหวัด อายุ 18-60 ปี จำนวน 61 คน โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มทดลอง 33 คน ได้ยาเม็ดฟ้าทะลายโจร 1,200 มิลลิกรัม/วัน และกลุ่มควบคุม 28 คน ได้ยาหลอก ทำการประเมินผลจากคะแนนรวมของอาการแสดงในแบบประเมินตนเอง  เช่น เจ็บคอ น้ำมูก คัดจมูก ปวดหู ไอ ตัวร้อน ปวดหัว รู้สึกไม่สบายตัว และ ผลการตรวจของแพทย์ ได้แก่ เยื่อเมือกในช่องจมูกอักเสบ ไซนัสอักเสบและปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต ในวันที่ 4 ของการทดลอง พบว่ากลุ่มที่ใช้ฟ้าทะลายโจรมีระยะเวลาของการเป็นโรคหวัดสั้นลง (2) ในขณะที่อีกการศึกษาพบว่าในวันที่ 2 ของการทดลอง กลุ่มที่ได้รับฟ้าทะลายโจรจะมีอาการเหนื่อยและอาการนอนไม่หลับ อาการเจ็บคอและมีน้ำมูกลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม และในวันที่ 4 ของการทดลองกลุ่มที่ได้รับฟ้าทะลายโจรจะมีอาการทุเลาเร็วกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยเฉพาะอาการเจ็บคอ มีน้ำมูก และปวดหู  และไม่พบผลข้างเคียงใดๆ (3)  การศึกษาในผู้ป่วยโรคหวัด โดยให้กลุ่มทดลองรับประทานยาเม็ด Kan Jang ครั้งละ 3 เม็ด 4 ครั้ง/วัน ทำการประเมินผลอาการแสดงด้วยแบบประเมินตนเองของผู้ป่วย เทียบกับการประเมินโดยแพทย์ ผลการทดลองพบว่าผู้ป่วยยอมรับและทนต่อการใช้ยาฟ้าทะลายโจร ได้มากกว่าร้อยละ 80   ผลการประเมินตนเองพบว่าคะแนนของอาการที่ดีขึ้นไม่แตกต่างกันระหว่างกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุม และกลุ่มทดลองมีความแตกต่างของคะแนนรวมมากกว่ากลุ่มควบคุมร้อยละ  30  แต่เมื่อพิจารณาแยกตามกลุ่มอาการพบว่า กลุ่มทดลองจะมีอาการเจ็บคอลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ  ผลการทดลองในระยะยาว พบว่าคะแนนที่ผู้ป่วยประเมินตนเองกับการประเมินของแพทย์  ของกลุ่มทดลองจะดีขึ้น เมื่อแยกตามอาการแล้ว กลุ่มทดลองจะมีอาการปวดกล้ามเนื้อ ไอ คอแห้ง ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ  หลังจากการทดลอง 3 วัน กลุ่มทดลอง 14 ใน 89 คน ต้องการการรักษาเพิ่มเติม ในขณะที่กลุ่มควบคุมต้องการการรักษาเพิ่มเติม 44 คน ใน 90 คน (4)  จากการศึกษาทางคลินิกในผู้ที่มีการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบนอย่างเฉียบพลัน รวมทั้งโพรงจมูกอักเสบ โดยให้รับประทานยา Kan Jang  ครั้งละ 4 เม็ด 3 ครั้ง/วัน นาน 5 วัน ทำการวัดผลโดยให้คะแนนจากการประเมินอุณหภูมิ อาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ อาการแสดงทางคอ ไอ อาการแสดงทางจมูก ความรู้สึกไม่สบายตัว และอาการทางตา  พบว่าคะแนนรวมทั้งหมดของกลุ่มทดลองสูงกว่ากลุ่มควบคุม โดยจะมีอาการปวดศีรษะ อาการทางจมูก อาการทางคอ และความรู้สึกไม่สบายตัวลดลง ในขณะที่ อาการไอและอาการทางตาไม่แตกต่าง อุณหภูมิในกลุ่มทดลองจะลดลงปานกลาง (32)

ในการศึกษาเปรียบเทียบยา Kan Jang และ Immunal (ประกอบด้วยสารสกัดจาก Echinacea purpurea) ร่วมกับการรักษาตามปกติ ในเด็กอายุ 4-11 ปี ซึ่งเป็นหวัดแต่ไม่มีอาการแทรกซ้อน ไม่ระบุขนาดยาที่ใช้นาน 10 วัน พบว่าการให้ Kan Jang ร่วมกับการรักษาตามปกติให้ผลดีกว่า Immunal และกลุ่มควบคุม โดยเฉพาะในคนที่เริ่มมีอาการระยะแรก อาการที่เห็นได้ชัดว่าทุเลาลง คือ น้ำมูกและการบวมคั่งในจมูกลดลง ไม่พบผลข้างเคียง ส่วน Immunal ไม่มีผลดังกล่าว (33)

จากการศึกษาในหลอดทดลองพบว่าสารสกัดฟ้าทะลายโจร ซึ่งมีสารสำคัญคือ andrographolide และอนุพันธ์ต่างๆ มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ  และมีผลควบคุมการทำงานของเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน ส่งผลลดการอักเสบและเพิ่มภูมิคุ้มกัน (8, 34-47) นอกจากนี้การศึกษาในสัตว์ทดลองยังพบว่าสารสกัดมีฤทธิ์ลดไข้อีกด้วย (8, 48-49)

 

6. อาการข้างเคียง

          ยังไม่มีรายงาน

 

7. ความเป็นพิษทั่วไปและต่อระบบสืบพันธุ์

7.1   การทดสอบความเป็นพิษ

       ให้หนูเม้าส์กินยาแขวนตะกอนจากผงใบแห้งขนาด 2 กรัม/กิโลกรัม สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ขนาด 2.4 กรัม/กิโลกรัม และ andrographolide ขนาด 3 กรัม/กิโลกรัม และสารสกัดด้วยอัลกอฮอล์ร้อยละ 50 ขนาด 15 กรัม/กิโลกรัม ไม่พบว่ามีหนูตาย  จากการศึกษาพิษจากสารสกัดในความเข้มข้นอื่นๆ ที่ให้โดยการกินเช่นกัน พบว่าทำให้เกิดพิษเล็กน้อยหรือแทบจะไม่ก่อให้เกิดพิษ (50-51) แสดงว่าการรับประทานใบฟ้าทะลายโจรมีความปลอดภัย

       การฉีดสารสกัดด้วยซาโปนิน อีเทอร์, ปิโตรเลียมอีเทอร์, เอทิลอีเทอร์, เมทานอล และส่วนสกัดที่แยกได้จากสารสกัดด้วยเอทิลอีเทอร์ และส่วนสกัดที่แยกได้จากสารสกัดด้วยเมทานอล เข้าช่องท้องหนูเม้าส์ในขนาดต่างๆ กันพบว่าในขนาดต่ำ (100-300 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) จะทำให้สัตว์ทดลองเพลีย หายใจเร็ว กล้ามเนื้ออ่อนแรง และเฉื่อยชาขึ้น  มีการรับรู้และการเคลื่อนไหวลดลง กล้ามเนื้ออ่อนแรง ที่ขนาดสูง (1000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) จะทำให้สัตว์ทดลองมีอาการคล้ายกับในขนาดต่ำ สัตว์ทดลองบางตัวชัก สั่นและอาจพบว่าทำให้สัตว์ทดลองตายด้วย (52, 53)

                 ในการทดสอบพิษกึ่งเรื้อรัง โดยให้หนูเม้าส์กินผงยาขนาด 200 และ 400 มิลลิกรัม/กิโลกรัม วันเว้นวัน นาน 4 สัปดาห์ หรือให้หนูแรทเพศผู้กินสารสกัดในขนาด 50, 100 และ 150 มิลลิกรัม/กิโลกรัม วันเว้นวัน นาน 14 สัปดาห์ ไม่พบความผิดปกติใดๆ  แต่หนูแรทที่ได้รับฟ้าทะลายโจรขนาด 150 มิลลิกรัม/กิโลกรัมจะมีอัตราการเจริญเติบโตช้าลงเล็กน้อย  เมื่อให้หนูกินสารสกัดด้วยเอทานอลร้อยละ 70  ขนาด 1 กรัม/กิโลกรัม นาน 60 วัน ไม่พบพิษต่อระบบสืบพันธุ์เพศผู้   และเมื่อให้หนูแรทกินน้ำยาแขวนตะกอนฟ้าทะลายโจรขนาด 0.12, 1.2 และ 2.4 กรัม/กิโลกรัม/วัน นาน 6 เดือน ก็ยังไม่พบพิษใด ๆ (50, 54, 55)

 

7.2  ก่อกลายพันธุ์

       ส่วนสกัดด้วยเฮกเซนและส่วนสกัดด้วยแอลกอฮอล์จากฟ้าทะลายโจรและสารสกัดด้วยน้ำจากใบและลำต้น ไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ในแบคทีเรีย S. typhimurium TA98 และ TA100 (56, 57)

 

7.3  ผลต่อระบบสืบพันธุ์

       การทดสอบความเป็นพิษของฟ้าทะลายโจรต่อระบบสืบพันธุ์ โดยป้อนสารสกัดมาตรฐาน (สกัดด้วยแอลกอฮอล์ร้อยละ 70) ให้หนูแรทในขนาด 20, 200 และ 1,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เป็นเวลา 60 วัน ไม่พบพิษต่ออวัยวะสืบพันธุ์ (53) แต่มีรายงานว่าเมื่อให้อาหารที่ผสมลำต้นฟ้าทะลายโจรในสัดส่วน 40 มิลลิกรัมต่อตัวกับหนูเม้าส์นาน 14 วัน แล้วจึงปล่อยให้ผสมพันธุ์ โดยยังคงให้อาหารที่ผสมฟ้าทะลายโจรต่ออีก 3 สัปดาห์ พบว่าหนูเพศเมียเป็นหมัน (54)  เมื่อให้อาหารที่มีส่วนผสมของราก ลำต้น และใบฟ้าทะลายโจรร้อยละ 0.75 แก่หนูเม้าส์พบว่าการได้รับอาหารที่มีส่วนผสมของลำต้นร้อยละ  0.75  นาน 3 สัปดาห์ขึ้นไปเท่านั้นที่มีผลทำให้หนูเพศผู้เป็นหมัน (55) ซึ่งสอดคล้องกับรายงานว่าฟ้าทะลายโจรทำให้การผลิตอสุจิลดลงเมื่อกรอกผงใบฟ้าทะลายโจรให้หนูแรทในขนาด 20 มิลลิกรัม/ตัว เป็นเวลา 60 วัน จะพบการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อที่ทำหน้าที่สร้างและเก็บอสุจิ (56)  และเมื่อป้อน andrographolide 2 ขนาดให้หนูแรทอายุ 3 เดือน เป็นเวลา 48 วัน พบว่าการผลิตอสุจิลดลง อสุจิไม่เคลื่อนไหว และบางตัวมีความผิดปกติเช่นเดียวกับเมื่อให้ผงฟ้าทะลายโจร ผู้วิจัยจึงแนะนำว่าอาจนำมาใช้เป็นยาคุมกำเนิดชาย (57)

 

8. วิธีการใช้

8.1   ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สาธารณสุขมูลฐาน)

                 1.   ใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาอาการท้องเสีย โดยใช้แคปซูลของผงใบฟ้าทะลายโจรขนาด 250 มิลลิกรัม จำนวน 2 แคปซูล รับประทาน 4 ครั้งต่อวัน (58)

       2.   ใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาอาการไอและเจ็บคอ โดยนำใบฟ้าทะลายโจรสดตากแห้งในร่ม บดเป็นผงละเอียด นำมาปั้นเป็นยาลูกกลอน ขนาดปลายนิ้วก้อย ผึ่งลมให้แห้ง รับประทาน 3-6 เม็ด วันละ 4 ครั้ง 3 เวลา หลังอาหารและก่อนนอน หรือใช้แคปซูลของผงใบฟ้าทะลายโจร ขนาด 250 มิลลิกรัม จำนวน 2 แคปซูล รับประทานวันละ 4 ครั้งหลังอาหารและก่อนนอน (59)

       3.   ใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาฝี โดยนำใบค่อนข้างแก่ประมาณ 1 กำมือ แล้วเอาเกลือ 3 เม็ด ใส่ผสมตำรวมกันในครกพอละเอียดดี เอาสุราครึ่งถ้วยชา น้ำครึ่งช้อนชา ใส่รวมลงไปคนให้เข้ากันดีเทน้ำกินค่อนถ้วยชา กากที่เหลือพอกแผลฝี แล้วเอาผ้าสะอาดพันไว้ พอกใหม่ๆจะรู้สึกปวดนิดหน่อย (60)

8.2   ยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ

                 ยาแคปซูล ยาเม็ด ที่มีผงฟ้าทะลายโจรแห้ง 250 มิลลิกรัม และ 500 มิลลิกรัม

                 บรรเทาอาการท้องเสียไม่ติดเชื้อ รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม – 2 กรัม วันละ 4 ครั้ง หลังอาหาร

                 บรรเทาอาการเจ็บคอ รับประทานวันละ 3 – 6 กรัม แบ่งให้วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน

                 บรรเทาอาการหวัด รับประทานวันละ 1.5 – 3 กรัม แบ่งให้วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน

เอกสารอ้างอิง

1.             วิษณุ ธรรมลิขิตกุล  สุรภี พฤกษชาติวุฒิ. การศึกษาฤทธิ์ต้านแบคทีเรียของสมุนไพรฟ้าทะลายโจร. สารศิริราช 2533;42(8):431-4.

2.             Leelarasamee A, Trakulsomboon S, Sittisomwong N. Undetectable anti-bacterial activity of Andrographis paniculata (Burma) Wall. ex Nees. J Med Assoc Thai 1990;731(6):299-304. 

3.             Sawasdimongkol K, Permpipat U, Kiatyingungsulee N, et al. Pharmacological study of Andrographis paniculata Nee.  Symposium on Andrographis paniculata, National Institite of Health, Bangkok, Thailand, 1990. 

4.     กัลยา อนุลักขณาปกรณ์  อุไรวรรณ เพิ่มพิพัฒน์. ฤทธิ์ของฟ้าทะลายโจรในการลดการบีบตัวของลำไส้เล็ก และป้องกันการเกิดอาการท้องเสียในสัตว์ทดลอง. วารสารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 2540;39(1):23-33. 

5.     โสภิต ธรรมอารี จันทิมา ปโชติการ  มณฑิรา ตัณฑ์เกยูร  จันทนี อิทธิพานิชพงศ์.  ฤทธิ์ของยาสมุนไพร 30 ชนิดที่มีสรรพคุณในการรักษาโรคท้องร่วงและบิดต่อการบีบตัวของลำไส้เล็กหนูตะเภา.  จุฬาลงกรณ์เวชสาร 2528;29(1):39-51.

6.             Dhumma-Upakorn P, Chaichantipyuth C, Pongjunyakul P, Sangalungkarn V, Chaimongkol S.  Spasmolytic activity of some active substances from Andrographis paniculata.  JSPS-NRCT Seminar: Pharmacological Active Substance from Natural Source, Faculty of Pharmaceutical Science, Chulalongkorn University, Bangkok, Thailand, 1992. p.21. 

7.     ประสาน ธรรมอุปกรณ์.  ผลของแอนโดรกราโฟไลด์ นีโอแอนโดรกราโฟไลด์ และ 14-ดีออกซี-11, 12-ไดดีไฮโดรแอนโดรกราโฟไลด์ ต่อการหดเกร็งกล้ามเนื้อกระเพาะอาหารและลำไส้ที่แยกออกจากตัวสัตว์ทดลอง.  การประชุมเสนอผลงานวิจัย คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครั้งที่ 8, 15 ธันวาคม, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2532.    

8.             George M, Pandalai KM. Investigations on plant a Burgos RA, Imilan M, Sanchez NS, Hancke JL.  Andrographis paniculata (Nees) selectively blocks voltage-operated calcium chennels in rat vas deferens.  J Ethnopharmacol 2000;71:115-21. 

9.             Burgos RA, Aguila MJ, Santiesteban ET, Sanchez NS, Hancke JL. Andrographis paniculata (Nees) induces relaxation of uterus by blocking voltage operated calcium channels and inhibits Ca 2+ influx. Phytother Res 2001;15(3):235-9.

10.         Bhatnagar SS, Santapau H, Desa JDH, et al. Biological activity of Indian medicinal plants. Part I. Antibacterial, antitubercular and antifungal action.  Ind J Med Res 1961;49(5):799-809.

11.         Nakanishi K, Sasaki SI, Kiang AK, et al. Phytochemical survey of Malaysian plants. Preliminary chemical and pharmacological screening. Chem Pharm Bull 1965;13(7):882-90. 

12.         Aromdee C, Khunkitti W, Chitropas P, Boonsang I. Autography evaluation of antioxidant and antimicrobial activities of Acanthaceae family. Thai J Pharm Sci 2003;27(suppl):61. 

13.         George M, Pandalai KM. Investigation on plant antibiotics. Part IV. Furthur search for antibiotic substances in Indian medicinal plants.  Indian J Med Res 1949;37:169-81. 

14.         ธิดารัตน์ ปลื้มใจ. ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลินทรีย์ของฟ้าทะลายโจร. วารสารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 2535;34(1):9-15.

15.         Pleumjai T, Sithisomwongse, N. Antimicrobial activity of Andrographis paniculata Nees.  Symposium on Andrographis paniculata, National Institute of Health, 22 October, Nonthaburi, Thailand, 1990. 

16.         George M, Pandalai KM. Investigations on plant antibiotics Part IV. Further search for antibiotic substance in Indian medicinal plants. Indian J Med Res 1949;56:81-4.

17.         Leangbunlertchai T, Leungsakul S. Antibacterial activities of Andrographis paniculata extracts. Srinakharinwirot Univ Sci J (Warasan Witthayasat Mo-So-Wo) 1988;4(2):128-35. 

18.         Kanbutra P, Porntrakulpipat S, Borisutpeth P, Sarachoo K, Jivaganon J, Aromdee C, Wongkham S. Antibacterial activity of Thai medicinal plants on Escherichia coli (F18+).  The 2nd International Conference on Medicinal Mushroom and the International Conference on Biodiversity and Bioactive Compounds, 17-19 July, Pattaya, Thailand, 2003. p.479-81.

19.         Ahmad I, Mehmood Z, Mohammad F. Screening of some Indian medicinal plants for their antimicrobial properties.  J Ethnopharmacol 1998;62:183-93. 

20.    อมร ลีลารัศมี  สุวรรณา ตระกูลสมบูรณ์  นาถฤดี สิทธิสมวงศ์.  สมุนไพรฟ้าทะลายโจรไม่สามารถออกฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย. รายงานการประชุมฟ้าทะลายโจร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์. 

21.    นวลตา ม่วงน้อยเจริญ อัญชลี ตัตตะวะศาสตร์ วิชัย ปราสาททอง และคณะ. ความสัมพันธ์ระหว่างส่วนประกอบทางเคมีของฟ้าทะลายโจรและผลทางการรักษาโรค.  โครงการพิเศษ คณะเภสัชศาสตร์. กรุงเทพ: มหาวิทยาลัยมหิดล, 2538. 

22.         Voravuthikunchai S, Lortheeranuwat A, Jeeju W, Sririrak T, Phongpaichit S, Supawita T.  Effective medicinal plants against enterohaemorrhagic Escherichia coli O157:H7. J Ethnopharmacol 2004;94:49-54. 

23.    สุรัชนี เศวตศิลา  อาภาพรรณ ทองบุญรอด  วิรารัตน์ คำเมือง. การทดสอบประสิทธิภาพในการต้านเชื้อจุลินทรีย์ของฟ้าทะลายโจรในห้องปฏิบัติการ.รายงานการประชุมฟ้าทะลายโจร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์.

24.         Thamlikitkul V, Dechatiwongs T, Chaipong S, et al. Efficacy of Andrographis paniculata Nees. for Pharyngotonsilities in adults. J Med Assoc Thai 1991;74(10):537-542.

25.         Sutarjadi, Santosa MH, Bendryman, Dyatmiko W. Immunomodulatory activity of Piper betle, Zingiber aromatica, Andrographis paniculata, Allium sativum and Oldenlandia corymbosa grown in Indonesia. Planta Med 1991;57(suppl 2):A136. 

26.         Caceres DD, Hancke JL, Burgos RA, Wikman GK. Prevention of common colds with Andrographis paniculata dried extract. a pilot double blind trial. Phytomedicine 1997;4(2):101-4. 

27.         Gabrielian ES, Shukarian AK, Goukasova GI, Chandanian GL, Panossian AG, Wikman G, Wagner H. A double blind, placebo-controlled study of Andrographis paniculata fixed combination Kan Jang in the treatment of acute upper respiratory tract infections including sinusitis.  Phytomedicine 2002;9:589-97.

28.         Spasov AA, Ostrovskij OV, Chernikov MV, Wikman G. Comparative controlled study of Andrographis paniculata fixed combination, Kan Jang and Echinacea preparation as adjuvant, in the treatment of uncomplicated respiratory disease in children. Phytother Res 2004;18(1):47-53. 

29.         Chantasutra V, Limpapanichkul S. Acute antiinflammatory activity of Andrographis paniculata Nees in rats. Abstr The 8th symposium, Faculty of pharmacy, Chulalongkorn University Bangkok, Thailand, December, 1989. 

30.    เสาวภา ลิมป์พานิชกุล.  การศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบของสมุนไพรฟ้าทะลายโจรในหนูขาว.  วิทยานิพนธ์ สาขาเภสัชวิทยา, กรุงเทพ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2532. 

31.         Li Y, Jiang Y. Preparation of compound Picrasma quassioides anti-inflammatory capsules.  Patent: Faming Zhuanli Shenqing Gongkai Shuomingshu CN 1562245, 2005:5pp.

32.         Madav S, Tandan SK, Lal J, Tripathi HC. Anti-inflammatory activity of andrographolide.  Fitoterapia 1996;67(5):452-8. 

33.         Thamaree S, Rugrungtham K, Ruangrungsi N, Thawan N, Kemsri W. The inhibitory effects of extracts of some herbal medicines on the production of proinflammatory cytokines by in vitro stimulated human blood cells. Thai J Pharm Sci 1998;22(3):S47. 

34.         Thamaree S, Rugrungtham K, Ruangrungsi N, Thaworn N, Kemsri W. The inhibitory effects of andrographolide and extracts of some herbal medicines on the production of proinflammatory cytokines by LPS-stimulated human blood cells. Chula Med J 2001;45(8):661-70.

35.         Johansson S, Goransson U, Luijendijk T, Backlund A, Claeson P, Bohlin L. A neutrophil multitarget functional bioassay to detect ant-inflammatory natural products. J Nat Prod 2002;65:32-41.

36.         Chiou WF, Chen CF, Lin JJ.  Mechanisms of suppression of inducible nitric oxide synthase (iNOS) expression in RAW 264.7 cells by andrographolide. Br J Pharmacol 2000;129(8):1553-60. 

37.         Hidalgo MA, Romero A, Figueroa J, Cortes P, Concha II, Hancke JL, Burgos RA.  Andrographolide interferes with binding of nuclear factor-kappa B to DNA in HL-60-derived neutrophilic cells. Br J Pharmacol 2005;144(5):680-6.

38.         Shen YC, Chen CF, Chiou WF. Andrographolide prevents oxygen radical production by human neutrophils: possible mechanism(s) involved in its anti-inflammatory effect. Br J Pharmacol 2002;135(2):399-406. 

39.         Shen Y-C, Chen C-F, Chiou W-F. Supression of rat neutrophil reactive oxygen species production and adhesion by the diterpenoid lactone andrographolide. Planta Med 2000;66:314-7. 

40.         Deng W, Nie R, Liu J. Comparison of pharmacological effect of four andrographolides. Yao Hsueh T’ung Pao 1982;17(4):195-8.

41.         Batkhuu J, Hattor I K, Takano F, Fushiya S, Oshiman K, Fujimiya Y. Supression of NO production in activated macrophages in vitro and ex vivo by neoandrographolide isolated from Andrographis paniculata. Biol Pharm Bull 2002;25(9):1169-74.

42.         Orozco H, Luis J, Aguilera B, Agustin R. Composition of labdane diterpenes extracted from Andrographis paniculata, for the treatment of autoimmune diseases and Alzheimer disease by activation of  PPAR-gamma receptors. Patent: PCT Int Appl WO 2005074953, 2005:68pp.

43.         Vedavathy S, Rao KN. Antipyretic activity of six indigenous medicinal plants of Tirumala hills, Andhra Pradesh, India. J Ethnopharmacol 1991;33:193-6. 

44.         Madav S, Tripathi HC, Tandan MSK. Analgesic, antipyretic and antiulcerogenic effects of andrographolide. Indian J Pharm Sci 1995;57(3):121-5.

45.         Sithisomwongse N, Phengchata J, Cheewapatana S, et al. Acute and cronic toxicity of Andrographis paniculata Nee. Thai J Pharm Sci. 1989;14(2):109-17. 

46.         Feng PC, Haynes LJ, Magnus KE, Plimmer JR, Sherrat HSA. Pharmacological screening of some west Indian medicinal plants. J Pharm Pharmacol 1962;14:556-61. 

47.         Kintanar QL, Mercado-Sison FE. Pharmacological screening of Philippine plants using a multidimensional observation technique in mice. The Philippine J Sci 1978;107(1-2):71-94. 

48.         Garcia LL, Kintanar QL, Fojas FR, Sison FM, Chua NG, Vili Anueva BA. Pharmacological studies on the leaves of Andrographis paniculata Nees. plant grown in the Philippines.  Acta Medica Philippina 1980;16(2);59-68.

49.         Dhammaupahorn P, Chaichantipyuth C. Acute and subcronic toxicity studies of Andrographis paniculata in rats and mice. Abstr The 8th symposium, Faculty of pharmacy, Chulalongkorn University Bangkok, Thailand, December, 1989. 

50.         Burgos RA, Caballero EE, Sanchez NS, Schroeder RA, Wikman GK, Hancke JL. Testicular toxicity assessment of Andrographis paniculata dried extract in rats. J Ethnopharmacol 1997;58(3):219-24.

51.    แก้ว กังสดาลอำไร วรรณี โรจนโพธิ์. การประเมินฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ของสมุนไพรไทยในรูปของยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข และสมุนไพรบางชนิด โดยวิธีเอมส์เทสต์.  รายงานการวิจัย สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล. 

52.         Yin XJ, Liu DX, Wang H, et al. A study on the mutagenicity of 102 raw pharamceuticals used in Chinese traditional medicine. Mutat Res 1991;260(1):73-82.

53.         Melchior J, Palm S, Wikman G. Controlled clinical study of standardized Andrographis paniculata extract in common cold-a pilot trial. Phytomedicine 1996;3(4):315-8.

54.         Shamsuzzoha M, Shamsur Rahman M, Mohiuddin Ahmed M, et al. Antifertility effect in mice of medicinal plant of family Acanthaceae. Lancet 1978:900. 

55.         Shamsuzzoha M, Shamsur Rahman M, Muhiuddin Ahmed M. Antifertility activity of a medicinal plant of the genus Andrographis Wall (Family Acanthaceae) Part II.  Bangladesh Med Res Counc Bull 1979;5(1):14-8.

56.         Akbarsha MA, Manivannan B, Hamid KS, Vijayan B. Antifertility effect of Andrographis paniculata (Nees) in male albino rat. Indian J Exp Biol 1990;28(5):421-6.

57.         Akbarsha MA, Murugaian P. Aspects of the male reproductive toxicity/male antifertility property of andrographolide in albino rats: effect on the testis and the cauda epididymidal spermatozoa. Phytother Res PTR 2000;14(6):432-5.

58.         Nakannishi K, Sasaki SI, Kiang AK, Goh J, KAkisawa H, Ohashi M. Phytochemical and pharmacological screening. Chem Pharm Bull 1965;13:822. 

59.         สำนักงานข้อมูลสมุนไพร.  คู่มือสมุนไพรประจำตู้ยา. กรุงเทพฯ: คณะเภสัชศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหิดล, 2531. หน้า 83. 

60.         โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง. ฟ้าทะลายโจร.  ข่าวสมุนไพร 2527;20:19.