1.  ชื่อสมุนไพร           ว่านหางจระเข้

          ชื่อวิทยาศาสตร์ Aloe vera (Linn.) Burm. f.

          ชื่อวงศ์           ALOACEAE

          ชื่อพ้อง           Aloe barbardensis Mill.

                   Aloe indica Royle

          ชื่ออังกฤษ        Aloe, Barbados aloe, Crocodile’ tongue, Indian aloe, Jafferbad, Mediteranean aloe, Star cactus, True aloe

          ชื่อท้องถิ่น        ว่านไฟไหม้, หางตะเข้

 

2. ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

          ไม้ล้มลุก มีข้อและปล้องสั้น ใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนรอบต้น โคนใบใหญ่ ปลายใบแหลม ขอบใบมีหนามแหลม แผ่นใบหนาอวบน้ำมาก ข้างในเป็นวุ้นใส น้ำยางสีน้ำตาลอมเหลือง ดอกเป็นช่อแตกออกที่ปลายยอด โคนดอกย่อยเชื่อมติดกันเป็นหลอด  ปลายกลีบดอกแยกเป็น 6 แฉก สีส้มแกมเหลือง ผลเป็นผลแห้ง แตกได้

 

3.  ส่วนที่ใช้เป็นยาและสรรพคุณ

          - วุ้นจากใบ                ใช้รักษาแผลน้ำร้อนลวก ผิวหนังอักเสบ บวม แมลงกัดต่อย เริม และฝี

          - ยางจากใบและต้น       ใช้รักษาอาการท้องผูก

 

4. สารสำคัญที่เป็นสารออกฤทธิ์

          สารสำคัญในการออกฤทธิ์สมานแผลคือ aloctin A และ aloctin B (1, 2) สารสำคัญในการออกฤทธิ์ลดการอักเสบ คือ aloctin A, veracylglucan B และ C และ bradykininase (3-11) ส่วน traumatic acid ออกฤทธิ์รักษาแผลในกระเพาะอาหาร (12) สารกลุ่ม anthraquinones ออกฤทธิ์เพิ่มการบีบตัวของลำไส้ ลดอาการท้องผูก (13-17)

 

5. ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา

          5.1   ฤทธิ์รักษาแผลในกระเพาะอาหาร

                 จากการทดลองในผู้ป่วยที่มีแผลในกระเพาะอาหาร 12 ราย โดยนำน้ำวุ้นว่านหางจระเข้มาเตรียมให้อยู่ในรูป emulsion แล้วให้ผู้ป่วยรับประทานครั้งละ 2 - 2.5 ออนซ์ (1 fluid ounce เท่ากับ 30 มิลลิลิตร) พบว่าผู้ป่วยทุกรายหาย  เชื่อว่าสารออกฤทธิ์ที่สำคัญคือ traumatic acid ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่พบในพืช ปะปนอยู่กับวุ้นในใบ (มิวซิเลจ) ต่างๆ ออกฤทธิ์โดยลดการหลั่งกรดและน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร และสารประกอบในวุ้นในใบได้แก่ manuronic และ glucuronic acid ช่วยป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร (12)

          ในปัจจุบันมีการจดสิทธิบัตรตำรับยาที่มีผงว่านหางจระเข้เป็นส่วนประกอบ มีสรรพคุณในการรักษาโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เช่น แผลในกระเพาะอาหาร แผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น (duodenal ulcer) กระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง การหลั่งกรดในกระเพาะอาหารมากเกินไป ปวดแสบปวดร้อนในกระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารมีการหดเกร็งและการย่อยอาหารไม่ดี  นอกจากนี้ยังมีการนำสารโพลีแซคคาไรด์ในว่านหางจระเข้ มาทำเป็นยารักษาโรคแผลในกระเพาะอาหารเรื้อรังและแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้นเรื้อรัง (18-19)

          การศึกษาฤทธิ์รักษาแผลในกระเพาะอาหารในหนูแรทของวุ้นว่านหางจระเข้มีหลายแห่ง ซึ่งพบการศึกษาทั้งที่ไม่ให้ผลการรักษา (12, 20, 21) และให้ผลการรักษาดี (22-24) โดยพบว่าสารออกฤทธิ์คือ aloctin A, aloctin B และ polysaccharide (1, 2, 25)

นอกจากการศึกษาโดยใช้ส่วนของวุ้นแล้วยังมีการศึกษากับสารสกัดว่านหางจระเข้ (26-30) พบว่าได้ผลในการป้องกันการเกิดแผลและรักษาแผลในกระเพาะอาหารเช่นกัน แต่กลไกการออกฤทธิ์ไม่เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์ prostaglandin ชนิดที่มีผลป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร (28-29) หรือลดการหลั่งน้ำย่อยและกรด (26, 30-32) อย่างไรก็ตามมีบางการศึกษากลับพบว่าสารสกัดว่านหางจระเข้มีฤทธิ์ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร (33) และกระตุ้นการหลั่งกรด (34)

          5.2   ฤทธิ์ในการสมานแผล

                 การนำขี้ผึ้งซึ่งมีว่านหางจระเข้ร้อยละ 50 ไปใช้รักษาแผลถลอก พบว่ามีอัตราการหายของแผลดี (35) และได้ผลดีกับแผลถลอก (36) และแผลไม่ติดเชื้อ (37) มีผู้นำขี้ผึ้งว่านหางจระเข้ไปใช้กับแผลเรื้อรัง และสิว (38) นอกจากนี้มีการนำมาใช้รักษาแผลภายนอกได้ผลโดยใช้ร่วมกับ Vitamin E (39) และยังมีรายงานผลดีของว่านหางจระเข้ต่อมาอีกหลายฉบับ (40-42) ซึ่งสันนิษฐานว่าการที่แผลหายเร็วขึ้นเนื่องจากว่านหางจระเข้ช่วยเร่งให้เซลล์ผิวหนังแบ่งตัวเพื่อซ่อมแซมผิว (43, 44) การใช้ว่านหางจระเข้ในผู้ป่วยผ่าตัดจมูก พบว่าทำให้แผลหายเร็วขึ้น (45) และมีการนำไปใช้รักษาแผลที่เกิดจากการรักษาสิวด้วยวิธีดูดหัวสิว (46) สารสกัดด้วยน้ำเมื่อนำไปใช้หลังการผ่าตัดฟัน พบว่าช่วยให้แผลสมานเร็วขึ้น (47) การทดลองในผู้ป่วย 31 คนซึ่งเป็นแผลในปาก พบว่าผู้ป่วยร้อยละ 77 มีความรู้สึกปวดน้อยลง ในขณะที่ผู้ป่วยร้อยละ 80 มีแผลดีขึ้น (48) และการนำว่านหางจระเข้ไปรักษาแผลที่เกิดจากการถอนฟัน พบว่าลดการเกิดกระดูกเบ้าฟันอักเสบ (alveolar osteitis) ได้มากกว่ากลุ่มที่ได้รับยา clindamycin (49) มีการนำวุ้นว่านหางจระเข้มารักษาแผล โดยศึกษาในผู้ป่วย 60 คน ที่มีบาดแผลจากอุบัติเหตุ พบว่าช่วยทำให้แผลหายสมบูรณ์ได้รวดเร็วกว่าการใช้ยาโพวิโดน ไอโอดีน (50) นอกจากนี้ยังมีการนำวุ้นว่านหางจระเข้สด (เตรียมและใช้ภายใน 6 ชั่วโมง) มาทดสอบในผู้ป่วยจิตเวช 4 คน พบว่าช่วยลดขนาดของแผลลง (51) 

                 อย่างไรก็ตามมีผู้รายงานถึงการนำว่านหางจระเข้มาใช้รักษาแผลแล้วไม่ได้ผลอยู่บ้าง เช่น การทดลองในหญิง 21 คน พบว่าแผลหายช้า (52) การนำว่านหางจระเข้ผสม silicon dioxide และ allantoin ไปรักษาแผลในปากพบว่าไม่ได้ผล (53) การนำสาร acemannan จากว่านหางจระเข้ไปใช้รักษาแผลกดทับในผู้ป่วย 30 ราย พบว่าได้ผลไม่ดีไปกว่าน้ำเกลือ (54) 

          ด้วยฤทธิ์สมานแผล จึงมีผู้นำว่านหางจระเข้ไปใช้รักษาแผลอักเสบต่างๆ ได้แก่ แผลที่เกิดจากการแพ้ sodium lauryl sulfate ในผงซักฟอก พบว่าได้ผลดี หรือใช้ผสมในน้ำยาทำความสะอาดผิวหนังโดยใช้สารสกัดว่านหางจระเข้ผสมน้ำยาล้างแผล และน้ำยารักษาแผลในปาก เป็นต้น (55-58)

          5.3   ฤทธิ์รักษาแผลไหม้จากการฉายรังสี

                 มีผู้นำว่านหางจระเข้มาใช้รักษาอาการผิวหนังอักเสบจากการได้รับรังสี พบว่าอาการดีขึ้น (59-74) โดยใช้ในรูปของวุ้นว่านหางจระเข้ (59,60,62,63,66,67,71,72,74-78) ใบสดทั้งใบ (61,65) ขี้ผึ้ง (68) และอีมัลชั่น (69) ซึ่งพบว่าใบสดให้ผลดีกว่าขี้ผึ้ง (65) ในการศึกษาถึงกระบวนการออกฤทธิ์พบว่าเกี่ยวข้องกับการจับอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นหลังฉายแสง (72,73) แล้วมีผลทำให้เกิดการทำลายเนื้อเยื่อลดลง  อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาบางอันให้ผลขัดแย้ง (77) เช่น การศึกษาในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมซึ่งรักษาด้วยการฉายรังสี 225 คน พบว่ากลุ่มที่ใช้วุ้นว่านหางจระเข้ ความเข้มข้นร้อยละ 95 ไม่ได้ผล ผู้ป่วยยังมีอาการคันและปวดแสบปวดร้อน (75)  ซึ่งตรงกับผลการทดสอบในผู้ป่วยมะเร็ง 108 คนในอีกการศึกษาหนึ่ง (78)

          นอกจากผลในการรักษาแผลอักเสบที่เกิดจากรังสีแล้ว ได้มีผู้สนใจศึกษาผลในการป้องกันการทำลายผิวหนังจากแสง UV มีผู้ทดลองในผู้ป่วย 12 ราย ว่าช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น (79) มีการพัฒนาตำรับวุ้นว่านหางจระเข้ซึ่งใช้ป้องกันผิวหนังถูกแผดเผาจากแสงแดด พบว่าได้ผลดี (80, 81) และทำให้ผิวมีความชุ่มชื้น (81) จึงได้มีการจดสิทธิบัตรอีมัลชั่นที่มีส่วนผสมของน้ำว่านหางจระเข้ที่ไม่มี aloin (ในสัดส่วนร้อยละ 60-70) พบว่าสามารถรักษาอาการผิวหนังอักเสบจากแสงแดดได้ (82) แต่มีบางรายงานแสดงให้เห็นว่าการใช้เจลว่านหางจระเข้ในการรักษาและป้องกันอาการอักเสบแดงเนื่องจาก UVB นั้นไม่ได้ผล (83, 84)

          5.4   ฤทธิ์รักษาแผลไหม้จากความร้อน

                 มีการศึกษาในผู้ป่วย 38 ราย โดยใช้วุ้นสด พบว่าได้ผลร้อยละ 95 เมื่อเปรียบเทียบกับยาทาแผลป้องกันการติดเชื้อ silver sulfadiazine ซึ่งได้ผลเพียงร้อยละ 83  โดยที่มีอาการไม่พึงประสงค์บ้างเล็กน้อย คือ รู้สึกระคายเคือง (85) มีการศึกษาผลของครีมว่านหางจระเข้ในผู้ป่วยนอกที่เป็นแผลไหม้ระดับ 2 พบว่าเมื่อเปรียบเทียบกับ silver sulfadiazine แล้วกลุ่มที่ได้รับว่านหางจระเข้มีแผลหายเร็วกว่ากลุ่มที่ใช้ silver sulfadiazine โดยแผลหายในเวลา 13 ± 2.41 วัน และ 16.15 ± 1.98 วัน ตามลำดับ (86) จากรายงานผลการรักษาในคนไข้ 27 ราย เปรียบเทียบกับ vaseline พบว่าหายในเวลา 11.89 วัน และ 18.19 วันตามลำดับ (87) แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีผู้เชื่อว่า แผลที่หายอาจเป็นผลเนื่องจากส่วนผสมที่เป็นน้ำมันในครีมทำให้แผลไม่แห้งจึงหายเร็วก็ตาม (88) แต่ผลการทดลองข้างต้นก็น่าจะยืนยันประสิทธิภาพของครีมวุ้นว่านหางจระเข้ได้   นอกจากวุ้นว่านหางจระเข้แล้ว ยังมีผู้พัฒนาตำรับขี้ผึ้งว่านหางจระเข้ใช้สำหรับรักษาแผลไหม้เนื่องจากน้ำร้อนลวกอีกด้วย (89, 90)

          5.5   ฤทธิ์ลดการอักเสบ

                 มีการนำว่านหางจระเข้ไปใช้ประโยชน์เพื่อลดการอักเสบในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ ครีมทารักษาโรคผิวหนังและแผลอักเสบ (91) ผสมกับ lidocaine (ยาชา) และ diphenhydramine (ยาแก้แพ้) ใช้รักษาการอักเสบของผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อน (92) ผสมกับ glycyrrhetinic acid รักษาการอักเสบ (93) และตำรับยาผสมกับสมุนไพรอื่น (94) การทำเป็นโลชั่นโดยมีส่วนประกอบของวุ้นว่านหางจระเข้ วิตามินซี วิตามินอี และไฮโดรคอร์ติโซน อะซิเตรต ใช้ทาผิวหนังหลังโกนขนหรือผม พบว่าสามารถลดการอักเสบและการระคายเคืองต่อผิวหนังได้ (95,96) มีการนำว่านหางจระเข้ไปรักษาสิว (97-99) รักษาอาการอักเสบของระบบทางเดินหายใจ (100) รักษาอาการไอโดยฉีดสารสกัดว่านหางจระเข้เข้าหลอดลมเป็นเวลา 10 วัน พบว่าได้ผลดี (101) และมีผู้เตรียมตำรับยาหยดแก้ไอจากโพลีแซคคาไรค์ (102) รักษาอาการอักเสบเนื่องจากหิมะกัด (103) รักษาอาการโรคปอดอักเสบเรื้อรัง (104) รักษาเหงือกอักเสบ (105-107) รักษาอาการบาดเจ็บของนักกรีฑา (108) นอกจากนี้ยังมีการศึกษาในผู้ป่วยลำไส้ใหญ่อักเสบจำนวน 42 คน  โดยให้ผู้ป่วย 30 คน รับประทานน้ำว่านหางจระเข้ 100 มิลลิลิตร วันละ 2 ครั้ง นาน 4 สัปดาห์ และผู้ป่วยอีก 14 คน ให้รับประทานยาหลอก  พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับน้ำว่านหางจระเข้ จะมีลำไส้ใหญ่อักเสบลดลงโดยแผลดูดีขึ้นและมีขนาดเล็กลง เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้ยาหลอก แสดงว่าน้ำว่านหางจระเข้ช่วยลดการอักเสบของลำไส้ใหญ่ได้ (109)

                 ในปัจจุบันมีการจดสิทธิบัตรยาแคปซูลที่มีส่วนประกอบของสารสกัดน้ำมะละกอ น้ำหม่อน น้ำว่านหางจระเข้ ที่ทำให้แห้ง ขนาด 200, 100 และ 50 มิลลิกรัมตามลำดับ (110) อาหารเพื่อสุขภาพที่มีส่วนผสมของว่านหางจระเข้ร้อยละ 85-90 และ วิตามินซีร้อยละ 3-10 (111) ใช้ต้านการอักเสบ (110-111) และตำรับยาเม็ดที่มีส่วนประกอบของสาร b-sitosterol (ที่ได้จากวุ้นว่านหางจระเข้) ขนาด 10 มิลลิกรัม สำหรับรักษาโรคไขข้ออักเสบ (112)

          5.6   ฤทธิ์เป็นยาระบาย

                 มีการจดสิทธิบัตรยาที่มีส่วนผสมของสารสกัดมะขามแขก 30-40 ส่วน สารสกัดว่านหางจระเข้ 30-40  ส่วน สารสกัดหมาก 20-30 ส่วน oryzanol 3-4 ส่วน และcalcium lactate 20-30 ส่วน ใช้ป้องกันและรักษาอาการท้องผูกโดยไม่มีผลข้างเคียง (113) เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของสารสกัด chamomile ว่านหางจระเข้และชะเอมเทศมีฤทธิ์เป็นยาระบาย (114) ยาระบายชนิดแคปซูลที่มีส่วนประกอบของ catechin จากชาร้อยละ 0.5-7 aloin จากว่านหางจระเข้ร้อยละ 0.2-5 และไขมันจากม้า (horse fats) ร้อยละ 88-93 เพื่อใช้เป็นยาระบายโดยไม่มีอาการปวดท้องและท้องเสีย (115) โดยสารที่พบจากยางที่เปลือก คือ anthraquinone (13), barbaloin (14), และ aloin (15-16)  และ ตำรับยาที่ประกอบด้วยสารสกัดจากว่านหางจระเข้ ได้แก่ สาร sennosides A และ B (17) มีฤทธิ์เป็นยาระบาย (13-17)

 

6. อาการข้างเคียง

          ยังไม่มีรายงาน

 

7. ความเป็นพิษทั่วไปและต่อระบบสืบพันธุ์

          7.1   การทดสอบความเป็นพิษ

                 เมื่อป้อนว่านหางจระเข้ให้หนูแรทในขนาด 92.5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ไม่พบพิษใด ๆ (116) แต่เมื่อผสมผงว่านหางจระเข้ในอาหารให้หนูแรทกิน พบว่าหนูมีอาการท้องเสีย (117) เมื่อผสมสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ร้อยละ 95 ในน้ำ แล้วป้อนให้หนูเม้าส์กินในขนาด 3 กรัม/กิโลกรัม ไม่พบพิษ แต่ถ้าให้หนูเม้าส์กินในขนาด 100 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เป็นเวลา 3 เดือน พบว่ามีอาการพิษรวมทั้งมีขนร่วงและการเสื่อมของอวัยวะเพศ (118) เมื่อฉีดสารสกัดว่านหางจระเข้ด้วยเอทานอลร้อยละ 50 เข้าช่องท้องหนูเม้าส์ พบว่ามีพิษปานกลาง (119) เมื่อป้อนสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ของใบว่านหางจระเข้ให้หนูเม้าส์กิน พบว่าทำให้เกิดความเป็นพิษมาก (120) สารสกัดด้วยน้ำเมื่อฉีดเข้าช่องท้องหนูเม้าส์ในขนาด 100 และ 800 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ไม่พบพิษ และไม่มีสัตว์ตาย (121) เมื่อฉีดสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ร้อยละ 95 เข้าช่องท้อง ขนาดที่หนูทนได้คือ 100 มิลลิกรัม (122)  และเมื่อให้หนูเม้าส์กินสารสกัดที่ได้จากการนำใบว่านหางจระเข้มาปั่นและทำให้เป็นผงแห้งด้วยวิธีแช่แข็ง (freeze dried) แล้วผสมในอาหารด้วยสัดส่วนร้อยละ 1 ให้หนูขาวกิน และอีกตัวอย่างนำไปกำจัดสีก่อนทำเป็นผง แล้วไปผสมอาหารด้วยสัดส่วนร้อยละ 1 และ 10 พบว่าทำให้ระดับฮอร์โมนพาราไทรอยด์ (parathyroid hormone) และแคลซิโตนิน (calcitonin) ลดลง แต่ระดับกลูโคส และ อินซูลิน ในเลือดไม่เปลี่ยนแปลง ไม่พบผลต่อตับและหัวใจ และปริมาณโปรตีนไม่เปลี่ยนแปลง (123) ผลการทดสอบในกระต่ายพบว่า เมื่อฉีดสารสกัดว่านหางจระเข้ให้กระต่ายปกติและกระต่ายที่มีอาการตับอักเสบ พบว่ากระต่ายมีอายุยืนขึ้น (124) เมื่อให้ทิงเจอร์ยาดำทางปาก ฉีดเข้าหลอดเลือด ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง หรือฉีดเข้าช่องท้อง พบว่าในขนาดสูงทำให้กระต่ายตาย แต่ขนาดน้อยลงมีอาการท้องเสีย หัวใจเต้นช้าลง ทำให้มดลูกและลำไส้เล็กบีบตัว (125) และเมื่อให้กระต่ายกินว่านหางจระเข้ ทำให้เกิดอักเสบที่ปากช่องคลอดและทางเดินปัสสาวะ (126) นอกจากนี้ว่านหางจระเข้ยังทำให้เกิดอาการแพ้ (127-129)

                 มีรายงานผู้ป่วยที่เป็นโรคดีซ่านเสียชีวิตเมื่อรับประทานยาซึ่งมียาดำ โกฐน้ำเต้า และมะขามแขก จากการชันสูตรพบว่าตับถูกทำลาย และมีการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อไต ม้าม หัวใจและปอด (130)  Aloin ทำให้ท้องเสียอย่างรุนแรง (131) และยังพบว่าเมื่อฉีด aloin เข้าใต้ผิวหนังสุนัขในขนาด 0.10 – 0.12 กรัม/กิโลกรัม ทำให้สุนัขเป็นไข้เป็นเวลา 24 ชั่วโมง และมีการแลกเปลี่ยนก๊าซ (gas exchange) มากกว่าปกติ 2 เท่า มีการผลิต uric acid และ urea เพิ่มขึ้น (132) และ chromone C-glucoside ทำให้เกิดอาเจียนอย่างรุนแรง (133)

                 การทดสอบพิษกึ่งเรื้อรังในหนูแรท โดยใช้ผงว่านหางจระเข้ในขนาดต่างๆ กัน พบว่าทำให้น้ำหนักตัวลดลง น้ำหนักไตเพิ่มขึ้น แต่ไม่มีผลต่อค่าชีวเคมีในเลือดที่ดูการทำงานของตับและไต (134)

                 ทั้งวุ้นสดและผลิตภัณฑ์วุ้นว่านหางจระเข้ เมื่อให้หนูเม้าส์และหนูแรทกิน หรือฉีดเข้าช่องท้อง ขนาด 20 กรัม/กิโลกรัม ครั้งเดียว หรือป้อนขนาด 5 กรัม/กิโลกรัม/วัน เป็นเวลา 45 วัน ไม่พบการผิดปกติใดๆ ทั้งในการตรวจเคมีเลือดและเนื้อเยื่อ (135) การให้หนูแรทกิน acemannan ซึ่งผสมในอาหารร้อยละ 5 เป็นเวลา 14 วัน และให้หนูแรทกิน acemannan 2,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน ไม่พบพิษเช่นเดียวกับเมื่อให้สุนัขกิน 1,500 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน เป็นเวลา 90 วัน (136) เมื่อป้อนวุ้นว่านหางจระเข้ขนาด 1, 4, 16, 64 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 100 กรัม ให้หนูแรท วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 42 วัน พบว่าไม่มีความผิดปกติของตับและไต (137) การทดลองใช้สารละลาย acemennan (1.0 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร) ฉีดเข้าช่องท้องหนูเม้าส์ ในขนาด 80 และ 200 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ให้หนูแรท ขนาด 15 และ 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และให้สุนัข ขนาด10 และ 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ไม่พบพิษ (138) การใช้ว่านหางจระเข้อาจเกิดอาการแพ้ได้ (41) โดยเมื่อให้โปรตีนจากว่านหางจระเข้แก่หนูตะเภาพบว่าอาจเกิดการแพ้อย่างรุนแรงได้ (139)  

          7.2   ผลต่อระบบสืบพันธุ์

                 เมื่อฉีดสารสกัดว่านหางจระเข้ด้วยน้ำ แอลกอฮอล์ร้อยละ 95 และปิโตรเลียมอีเทอร์เข้าช่องท้องหนูเม้าส์ พบว่าไม่ทำให้แท้ง (140) เมื่อป้อนสารสกัดด้วยน้ำ และแอลกอฮอล์ร้อยละ 95 ให้หนูแรทก็ไม่ทำให้แท้งเช่นกัน มีผู้รายงานว่า aloin อาจทำให้แท้ง (141) และสารสกัดใบว่านหางจระเข้ในขนาด 0.5 มิลลิกรัม มีผลทำให้มดลูกบีบตัว นอกจากนี้มีการทดลองนำสารสกัดว่านหางจระเข้ซึ่งทำให้แห้งด้วยวิธีแช่แข็ง (freeze dried) ความเข้มข้นร้อยละ 7.5 และ 10 มาทาบริเวณช่องคลอดกระต่าย   พบว่าสามารถฆ่าเชื้ออสุจิได้โดยไม่มีอันตรายต่อผิวเยื่อบุช่องคลอดของกระต่าย (142)

    

          7.3  พิษต่อตัวอ่อน

                 เมื่อให้หนูแรทกินสารสกัดว่านหางจระเข้ด้วยเบนซิน เอทานอลร้อยละ 50 และคลอโรฟอร์ม ในขนาด 100 มิลลิกรัม/กิโลกรัม พบความเป็นพิษต่อตัวอ่อน (143) และเมื่อให้สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ร้อยละ 50 ในขนาด 100 และ 200 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ก็พบความเป็นพิษต่อตัวอ่อนเช่นกัน (144) แต่มีบางรายงานพบว่าเมื่อให้หนูแรทกินสารสกัดด้วยเบนซินและแอลกอฮอล์ร้อยละ 50 ไม่มีพิษต่อตัวอ่อน (145) อย่างไรก็ตาม สารสกัดด้วยน้ำ เมื่อป้อนให้หนูแรทที่ท้อง ในขนาด 125 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ทำให้ตัวอ่อนพิการ (146)

          7.4   ฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์และต้านการก่อกลายพันธุ์

                 สารสกัดว่านหางจระเข้ด้วยแอลกอฮอล์ร้อยละ 95  มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์อย่างอ่อน (147) ซึ่งพบว่าสารที่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ คือ anthraquinone glycoside (148) และ hydroxyanthraquinone (149)

                 ในด้านของฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ พบว่ายาชงว่านหางจระเข้ในขนาด 100 ไมโครลิตร/แผ่นทดสอบ ไม่สามารถต้านการก่อกลายพันธุ์ได้ (150) แต่ aloe emodin ซึ่งสกัดแยกได้จากสารสกัดด้วยเมทานอล (151,152) และสารสกัดที่แยกได้ด้วยวิธีโครมาโตรกราฟฟี่ (153-154) สามารถยับยั้งการก่อกลายพันธุ์ได้

          7.5   พิษต่อเซลล์

       การทดสอบความเป็นพิษของวุ้นว่านหางจระเข้ต่อเซลล์ พบว่าไม่มีพิษต่อเซลล์ปกติ แต่มีพิษต่อเซลล์มะเร็งหลายชนิด (155-159)

    

8. วิธีการใช้

8.1   ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สาธารณสุขมูลฐาน)

                 1.   ใช้รักษาอาการท้องผูก โดยกรีดยางจากว่านหางจระเข้มาเคี่ยวให้งวด ทิ้งไว้ให้เย็นจะได้ก้อนสีดำ (เรียกว่า ยาดำ) ตักมาปลายช้อนชา เติมน้ำเดือด 1 ถ้วย คนให้ละลาย เด็กรับประทานครั้งละ 1 ช้อนชา ผู้ใหญ่รับประทานครั้งละ 2 ช้อนชา ก่อนนอน (160)

                 2.   ใช้รักษาแผล โดยนำใบสดมาปอกเอาแต่วุ้นถูและปิดที่แผลเนื่องจากโดนความร้อน การรีบรักษาใน 24 ชั่วโมง จะทำให้การรักษาได้ผลดี (161,162) แต่มีข้อควรระวังคือ

       2.1  ระวังเรื่องการติดเชื้อ เพราะวุ้นว่านหางจระเข้ไม่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ ควรปลอกเปลือกแล้วล้างให้สะอาด

       2.2  วุ้นว่านหางจระเข้มีความไม่คงตัว ถ้าปอกแล้วจะเก็บไว้ได้เพียง 6 ชั่วโมง

       2.3  ระวังการปนเปื้อนของสาร anthraquinone จากยาง ซึ่งอาจทำให้แพ้ได้ จึงต้องล้างวุ้นให้สะอาด

                 3.   ใช้รักษาอาการบวม ฟกช้ำ อักเสบ แมลงกัดต่อย เริม โดยใช้น้ำคั้นจากวุ้นทาหรือใช้วุ้นมาพอกบริเวณที่อักเสบ ฟกช้ำ แพ้ (161)

8.2   ยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ

                            ไม่มี

 

เอกสารอ้างอิง

1.             Ajinomoto Co., Ltd. Aloctin A as an antiulcer agent. Patent: Jpn Kokai Tokkyo Koho JP 81,110,626 1981.

2.             Ajinomoto Co., Ltd. Aloctin B as an antiulcer agent.  Patent: Jpn Kokai Tokkyo Koho JP 81,110,627 1981.

3.             Suzuki I. Alocutin B. Patent, Kokai Tokkyo Koho 79 73,111 (C1.A61K35-78), 1979.

4.             Busing KH. Hyaluronidase inhibition of some naturally occurring substances used in therapy. Arzneimisttel-Forsch 1955;5:320-2.  

5.             Ajinomoto Co., Inc.  Aloctin A. Patent: Jpn Kokai Tokkyo Koho JP 81 87,593, 1979. 

6.             Suzuki I.  Antiinflammatory agent.  Patent: Eur Pat Appl 25,873 ,1981.

7.             Saito H, Ishiguro T, Imanishi K, Suzuki I.  Pharmacological studies on a plant lectin aloctin A. II. Inhibitory effect of aloctin A on experimental models of inflammation in rats. Japan J Pharmacol 1982;32:139-42.

8.             Ohuchi K, Watanaba M, Takahashi E, et al. Lectins modulate prostaglandin E2 production by rat peritoneal macrophages. Agent Action 1984; 15(3-4): 419-23.

9.             Esua MF, Rauwald J-W. Novel bioactive maloyl glucans from Aloe vera gel: isolation, structure elucidation and in vitro bioassays. Carbohydr Res 2006;341(4):355-64.

10.         Fujita K, Teradaira R, Nagatsu T. Bradykininase activity of aloe extract. Biochem Pharm 1976;25:205. 

11.         Fujita K, Ito S, Teradaira R, Beppu H. Properties of a carboxypeptidase from aloe.  Biochem Pharmacol 1979;28(7):1261-2.

12.         Blitz JJ, Smith JW, Gerard JR. Aloe vera gel in peptic ulcer therapy: preliminary report.  J Am Osteopath Assoc 1963;62:731-5.

13.         Mukerji B. The Indian pharmaceutical codex, Vol 1, Newdelhi, India 1953.

14.         Ishii Y, Tanizawa, Ikemoto C, Takino Y.  Stuies of aloe I. Cathartic effects.  Yakugaku Zasshi 1981;101(3):254-8.

15.         Mapp RK, McCarthy TJ. Assessment of pugative principles in aloes. Planta Medica 1970;18(4):361-5.

16.         Fuller HC. Laxative and bitter tonics drugs. J AOAC 1924;8:23-5.

17.         Ueda N. Effect of ND-10, a new herbal laxative, in rats. Yakuri to Chiryo 1988; 26(10):1693-9.

18.         Wang J. Manufacture and application of drug formation for trating gastropathy. Patent: Faming Zhuanli Shenqing Gongkai Shomingshu CN 1579473, 2005:13 pp.

19.         Tan R, Luo L, Xu C, Li Y, Yu H, Ge H. Aloe polysaccharide pharmaceutical formulations for treating chronic gastric ulcer or duodenal ulcer. Patent: Faming Zhuanli Shenqing Gongkai Shomingshu CN 141 1416818, 2003:7pp. 

20.         Suvitayavat W, Sumrongkit, Thirawarapan SS, Bunyapraphatsara N. Effect of aloe preparation on histamine-induced gastric secretion in rat. J Ethnopharmacol 2004;90:239-47.

21.         Kang M, Cho SY, Kim HS, Kim DH, Jeong CS. Antigastritic and antiulcerative effect of Pulmuone healthy aloe gel. Yakhak Hoechi 2005;49(3):237-43.

22.         La-ongphanich S. Ulcer-healing effect of Aloe vera gel, Aloe vera whole leaf extract and cimetidine on rat gastric ulcers induced by fasting, refeeding and cortisol injections.  MS Thesis Mahidol Univ, Bangkok, Thailand 1987.

23.         Mahattanadul S. Antigastric ulcer properties of Aloe vera.  Songklanakarin J Sci Technol 1996;18(1):49-57.

24.         Visuthipanich W.  Histochemical and pathological changes in rat gastric mucosa following Aloe vera gel and cortisol administrations. MS Thesis, Bangkok: Mahidol Univ ersity, 1988.

25.         Zhong Z, Zhou G. Preliminary study of polysaccharide from Chinese aloe (Aloe vera var. chinensis) on experimental gastric ulcer in mice. Zhongcaoyao 1995;26(2):83.

26.         Hirata T, Suga T.  Biologically active constituents of leaves and roots of Aloe arborescens var natalensis.  Z Naturforsch Sect C Biosci 1977;32(9/10):731-4.

27.         Galal EE, Kandil A, Hegazy R, Ghoroury ME, Gobran W. Aloe vera and gastrogenic ulceration.  J Drug Res Egypt 1975;7(2):73-8.

28.         Teradaira R, Shinazato M, Beppu H, Fujita K. Antigastric ulcer effects in rats of Aloe arborescens Miller var natalensis Berger extract.  Phytother Res 1993;7:S34-6.

29.         Maze G, Terpolilli RN, Lee M. Aloe vera extract prevents aspirin-induced acute gastric mucosal injury in rats.  Med Sci Res 1997;25(11):765-6.

30.         Yusuf S, Agunu A, Diana M. The effect of Aloe vera A. Berge (Liaceae) on gastric acid secretion and acute gastric mucosal injury in rats. J Ethnopharmacol 2004;93:33-7.

31.         Udupa SL, Udupa AL, Kulkarni DR. A comparative study on the effect of some indigenous drugs on normal and steroid-depressed healing.  Fitoteropia 1998;69(6):507-10.

32.         Graham SP. Folk medicine remedies in wound healing. Clin Res 1980;34(2):400A.

33.    Lion Corp. Pharmaceuticals for wound healing. Patent: Jpn Kokai Tokkyo Koho JP 58 15,918[83 15,918], 1983:15pp.

34.         Heggers JP, Kucukcelebi A, Stabenau CJ, et al. Wound healing effects of aloe gel and other topical antibacterial agents on rat skin.  Phytother Res 1995;9:455-7.

35.         Barnes TC.  he healing action of extracts of Aloe vera leaf on abrasions of human skin.  Amer Jour Bot 1947;34(10):597.

36.         4Fulton JE. The stimulation of postdermabrasion wound healing with stabilized Aloe vera gel-polyethylene oxide dressing.  J Dermatol Surg Oncol 1990;16(5):460-7.

37.         Shurygin AY. The effect of a preparation of bacterolysin in therapeutic combination with aloe on the regenerative processes in the uninfected wound. Frunze 1967:274.

38.         Zawahry ME, Hegazy MR, Helal M. Use of aloe in treating leg ulcers and dermatoses.  Int J Dermatol 1973;12(1):68-73.

39.         Bernhard JD. Aloe vera and vitamin E as dermatologic remedies. J Am Med Assoc 1988;259(1):101.

40.         Bhanganada K, Kiettiphongthavorn W, Kaewchantr M, et al. The use of gel aloe as a wound dressing: A comparison between gel aloe and povidone iodine on the effect of wound healing.  Annual Res Abstr, Bangkok: Mahidol University, 1989. p.173-83.

41.         Hunter D, Frumkin A.  Adverse reactions to vitamin E and Aloe vera preparations after dermabrasion and chemical peel. Cutis 1991;47(3):193-6.

42.         Leung AY.  Aloe vera in cosmetics. Drug Cosmet Ind 1977;120:34.

43.         Verma SBS, Schnlze HJ. Steigleder GK. The effect of externally applied remedies containing Aloe vera gel on the proliferation of the epidermis. Perfumeric Kometik 1989;70(8):452-9.

44.         Visulthikosol V, Sukwanarat Y, Chowchuen B, Sriurirata S, Boonpucknavig V. Effect of Aloe vera gel to healing of burn wound. A clinical and histologic study. J Med Assoc Thai 1995;78(8):403-7.

45.         Thompson JE. Topical use of Aloe vera derived allantoin gel in otolaryngology [letter].  Ear Nose Throat J 1991;70(1):56.

46.         Fulton Jr JE. Dermabrasion-Loo-punch-excision technique for the treatment of acne-induced osteoma cutis.  J Dermatol Surg Oncol 1987;13(6):655-9.

47.         Cobble HH.  Stabilized Aloe vera gel.  Patent: US 3,892,853 1975.

48.         Andriani E, Bugli T, Aalders M, et al. The effectiveness and acceptance of a medical device for the treatment of aphthous stomatitis. Clinical observation in pediatric age.  Minerva Pediatr 2000;52(1-2):15-20.

49.         Poor MR, Hall JE, Poor AS. Reduction in the incidence of alveolar osteitis in patients treated with the salicept patch, containing acemannan hydrogel. J Oral Maxillofac Surg 2002;60(4):374-9.

50.    วรนุช  เกียรติพงษ์ถาวร และคณะ. การเปรียบเทียบการหายของแผลภายหลังทำแผลด้วยวุ้นว่านหางจระเข้กับน้ำยาโพวิโดน ไอโอดีน. โครงการพัฒนาการใช้สมุนไพร และยาไทยทางคลินิก (2526-2536) โดยคณะกรรมการโครงการพัฒนาการใช้สมุนไพรและยาไทยทางคลินิก มหาวิทยาลัยมหิดล. หน้า 173-183. 

51.    กิตติพงศ์  สานิชวรรณกุล.  เทคนิคอย่างง่ายในการรักษาแผลกดทับและแผลไฟไหม้ในผู้ป่วยจิตเวชด้วยว่านหางจระเข้.  รายงานการวิจัย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ  

52.         Schmist JM, Greenspoon JS.  Aloe vera dermal wound gel is associated with a delay in wound healing.  Obster Gynecol 1991;78(1):115-7.

53.         Garnick JJ, Singh B, Winkley G.  Effectiveness of a medicament containing silicon dioxide, aloe and allantoin on aphthous stomatitis. Oral Surg Oral Med Oral Pathol Oral Radiol Endod 1998;86(5):550-6.

54.         Thomas DR, Goode PS, LaMaster K, Tennyson T. Acemannan hydrogel dressing versus saline dressing for pressure ulcers, A randomized, controlled trial. Adv Wound Care 1998;11(6):273-6.

55.         Serban GP, Henry SM, Cotty VF, Marcus AD. In vivo evaluation of skin lotions by electrical capacitance: I. The effect of several lotions on the progression of damage and healing after repeated insult with sodium lauryl sulfate.  J Soc Cosmet Chem 1981;32:407-19.

56.         Yamada M. Aloe-containing degreasing cottons for skin cleaning. Patent: Jpn Kokai Tokkyo Koho JP 08,168,517 [96,168,517] 1996:3pp.

57.         Mulder G. Wound cleansers free of sensitizing agents. Patent: U S US 5,565,189 1996:4pp.

58.         Schulman JM. Medicated gels for healing apthous ulcers. Patent: U S US 5,503,822 1996:3pp.

59.    ณรงค์ชัย ประสิทธิ์ภูริปรีชา นิศา อินทรโกเศส โอภา วัชรคุปต์ พิสมัย ทิพย์ธนทรัพย์.  การทดลองใช้สารสกัดว่านหางจระเข้กับแผลที่เกิดจากรังสีบำบัด.  รายงานโครงการพิเศษ คณะเภสัชศาสตร์, กรุงเทพ:  มหาวิทยาลัยมหิดล, 2529.

60.         Bosley C, Smith J, Baratti P, et al. A Phase III trial comparing an anionic phospholipid-based (APP) cream and Aloe vera-based gel in the prevention and treatment of radiation dermatitis.  Int J Radiat Oncol Biol Physics 2003;57(2):S438.

61.    Collins CF, Collins C. Roentgen dermatitis treated with fresh whole leaf of Aloe vera.  Am J Roentgen 1935; 33(3):396-7.

62.         Fine A, Brown S. Cultivation and clinical application of Aloe vera leaf. Radiology 1939;32:735-6

63.         Flagg J. Aloe vera gel in dermatological preparations. Am Perfumer Aromal 1959;74(4):27-8,61.

64.         Horn CL.  Botanical science helps to develop a new relief for human suffering.  Jour New York Bot Gard 1941;42(496):88-92.

65.    Loveman AB.  Leaf of Aloe vera in treatment of roentgen ray ulcers.  Archives Dermatol Syphilol 1937:36:838-43.

66.    Mandeville FB.  Aloe vera in the treatment of radiation ulcers of mucous membranes.  Radiology 1939;32:598-9.

67.         Olsen DL, Raub Jr.W, Bradley C, et al.  The effect of Aloe vera gel/mild soap versus mild soap alone in preventing skin reactions in patients undergoing radiation therapy.  Oncol Nurs Forum 2001;28(3):543-7.

68.         Rattner DH.  Roentgen ray dermatitis with ulcer.  Arch Dermatol Syphilol 1936;33:593-4.

69.         Rostotskit BK, Aleshkina YA.  Aloe emulsion.  Patent: U S S R 111, 903 1958.

70.         Rowe TD. Effect of fresh Aloe vera jell in the treatment of third degree roentgen reactions on white rats.  J Am Pharm Assoc Sci Ed 1940;29:348-50.

71.         Rowe TD, Lovell BK, Parks LM.  Further observations on the use of Aloe vera leaf in the treatment of third degree x-ray reactions. J Am Pharm Assoc Sci Ed 1941;30:266-9.

72.         Sato Y, Ohta S, Shinoda M. Studies on chemical protectors against radiation. XXXI. Protection effects of Aloe arborescens on skin injury induced by X-irradiation.  Yakugaku Zasshi 1990;110(11):876-84.

73.         Sato Y, Kamazawa N, Suzuki M, Wang CM, Ohta S, Shinoda M.  Studies on chemical protectors againgst radiation. XXXIII. Protective mechanisms of various compounds against skin injury induced by radiation.  Yakugaku Zasshi 1991;111(1):51-8.

74.    Wright CS.  Aloe vera in the treatment of roentgen ulcers and telangiectasis.  J Am Med Assoc 1936;1061363-4.

75.         Heggie S, Bryant GP, Tripcony L, et al. A phase III study on the efficacy of topical Aloe vera gel on irrdiatied breast tissue. Cancer Nursing 2002;25(6):442-51.

76.         Lawrence D. Treatment for flash burns of the conjunctiva.  N Engl J Med 1984;311(6):413.

77.         Lushbaugh CC, Hale DB.  Experimental acute radiodermatitis following beta irradiation. I: Histopathological study of the mode of action of therapy with Aloe vera. Cancer 1953;6:690-8.

78.         Williams M, Bruk M, Loprinzi CL, et al. Phase III double-blind evaluation of an Aloe vera gel as a prophylactic agent for radiation-induced skin toxicity. Int J Radiat Oncol Biol Phys 1996;36(2):345-9.

79.         Burger A, Greeber M, Schuster O.  Aloe vera.  The renacence of a traditional natural drug as a dermopharmaceuticol.  SOFW J 1994;120(9):526,528-9.

80.    ลือรัตน์ อนุรัตนพานิช  สมศักดิ์ ตั้งใจรักการดี  พิมลพรรณ นิตยานุกุล.  การตั้งตำรับใช้เฉพาะที่ “ว่านหางจระเข้สำหรับเป็น anti-sunburn”  รายงานโครงการพิเศษ คณะเภสัชศาสตร์, กรุงเทพ: มหาวิทยาลัยมหิดล, 2534.

81.         Chen L, Wu K, Gao D. Preparation of aloe sun protection and moisturizing retension lotion.  Dalian Qinggongye Xueyuan Xuebao 2003;22(4):259-61.

82.         Koehler T. Skin care emulsions containing high concentrations of aloe juice for treatment of sunburns.  Patent: Ger Offen DE 10,242,138; 2001:4pp.

83.         Crowell J, Hilsenbeck S, Penneys N.  Aloe vera does not affact cutaneous erythema and blood flow following ultraviolet B exposure.  Photo-Dermatology 1989;6(5):237-9.

84.         Leenutaphong V, Chunhajinda S, Sunthonpalin P, Boonchai W. Can Aloe vera treat or protect from sunburn?  Siriraj Hosp Gaz 1998;50(1):91-3.

85.         Thamlikitkul V, Bunyapraphatsara N, Riewpaiboon W, et al. Clinical trial of Aloe vera Linn. for treatment of minor burns.  Siriraj Hosp Gaz 1991;43(5):313-6.

86.         Heck E, Head M, Nowak D, Helm P, Baxter C. Aloe vera (gel) cream as a topical treatment for outpatient burns.  Burns 1979;7(1):291-4.

87.         Ship G. Is topical Aloe vera plant mucus helpful in burn treatment? J Am Medical Assoc 1977;238(16):1770.

88.         Crewe JE.  The external use of aloes.  Minnesota Med 1937;20:670-3.

89.         Crewe JE.  Aloes in the treatment of burns and scalds.  Minnesota Med 1939;22:538-9.

90.         Bracken WM, Cuppage F, Mclaury RL, KirwinC, Klaassen CD.  Comparative effectiveness of topical treatment for hydrofluric acid burns. J Occup Med 1985;27(10):733-9.

91.         Vajaragupta O, Thiptanasup P, Rochanaonda C, Busapawan W. Aloe 1: Screening test for dermatological treatment.  R T A Med J 1986;39(4):223-30.

92.         Busciglio JA. Antiinflammatory topical compositions containing lidocaine and diphenhydramine.  Patent: U.S. US 4,748,022 ,1988:5pp.

93.         Lion Corp. Topical anti-inflammatory formulations containing aloe extracts.  Patent: Jpn Kokai Tokkyo Koho JP 59 13,716 [84 13,716] ,1984:12pp.

94.         Hayashi M, Suzuki T, Asano K, et al. Pharmacological studies on combined product of crude drug.  Poltistan: the anti-inflammatory effects and the general pharmacological studies.  Oyo Yakuri 1978;16(3):503-19.

95.         Ortiz R, Fernandez V. Post hair removal skin care lotions containing hydrocortisone acetate and vitamin and aloe extracts and soybean oils.  Patent: US  US 6767534 2004:4 pp.

96.         Ortiz R, Fernandez V.  Therapeutic after shave care lotions containing Aloe vera gel and vitamins C and E and hydrocortisone.  Patent: U S US 6352691 1999:3 pp.

97.         Brudner IK, Baranova LL. Treatment of acne conglobata. Zdravookhr Beloruss 1972;18(10):62-3.

98.         Jain A, Basal E. Inhibition of Propionibacterium acnes-induced mediators of inflammation by Indian herbs.  Phytomedicine 2003;10(1):34-8.

99.         Orafidiya LO, Agbani EO, Oyedele AO, Babalola OO, Onayemi O, Aiyedun FF.  The effect of Aloe vera gel on the anti-acne properites of the essential oil of Ocimum gratissimum Linn leaf. – a preliminary clinical investigation.  Int J Aromat 2004;14:15-21.

100.     Susanka F.  Therapeutical preparation for treating respiratory tract inflammations.  Patent: Austrian 172,669 ,1952.

101.     Grigor’eva IF.  Treatment of children with persistent cough and pharyngitis.  Vestn Otorinolaringol 1985;0(4):13-6.

102.     Matsui H, Matsukura T.  Cough drops containing aloe polysaccharides.  Patent: Japan Kokai 75,155,664 ,1975:3pp.

103.     McCauley RL, Heggers JP, Robson MC.  Frostbite. Methods to minimize tissue loss.  Postgrad Med 1990;88(8):67-8,73-7.

104.     Marchuk GI, Zhivoderov VM, Berbentsova AP, et al.  Biological stimulation in chronic nonspecific pulmonary diseases.  Ter Arkh 1982;54(1):31-7.

105.     Timina VA, Faustova GM.  Changes of blood serum properdin in patients with parodontosis during methyluracil (methacyl) treatment.  Stomatologiya 1971;50(2):77-9.

106.     Noskov AD.  Treatment of parodontosis by injections of aloe extract and their effect on phosphorus-calcium metabolism.  Stomatologiya 1966;15(4):13-5.

107.     King RM, Carroll TF.  Aloe vera gel toothpaste.  Patent:U S US 5294434 1991:6 pp.

108.     Lerner FN. Investigation of effects of proteolytic enzymes, aloe gel and iontophoresis on chronic and acute athletic injuries. Chiropractic Sports Med 1987;1(3):106-10.

109.     Langmead L, Feakins RM, Goldthorpe S, et al.  Randomized, double-blind, placebo-controlled trial of oral Aloe vera gel for active ulcerative colitis. Aliment Pharmacol Ther 2004;19(4):739-47.

110.     Villa C. Composition having antioxidant, anti-inflammatory and immunostimulant actions.  Patent: Eur Pat Appl EP 1604677 22005:9pp.

111.     Wang X. Manufacture of Aloe arborescens health food.  Patent: Faming Zhuanli Shenqing Gongkai Shoumingshu CN 1605283 2005:10 pp.

112.     Jung MH, Jung SY, Kim GW, Lee SG, Park YI. Composition for forming blood vessel, preventing and curing arthritis containing beta-sitosterol. Patent: Repub Korean Kongkae Taeho Kongbo KR 2001048289 2001.

113.     Lin R. Manufacture of medicine containing extracts of cassia, aloe and Areca catechu for middle aged and aged people to prevent and treat constipation. Patent: Faming Zhuanli Shenqing Gongkai Shuomingshu 2005 CN 1579502:13pp. 

114.     Yu C.  Ingestible laxative beverage.  Patent:U S PAT APPL PUBL US 2002 187,235 2002:7pp.

115.     Kubota K, Murase I, Nakamura H. Laxatives containing catechin, aloin, and horse fats.  Patent: Jpn Kokai Tokkyo Koho JP 2002 03,388 2002:8pp.

116.     Yokel RA, Ogzewalla CD. Effects of plant ingestion in rats determined by the conditioned taste aversion procedure. Toxicon 1981;19(2):223-32.

117.     Herlihy JT, Bertrand HA, Kim JD, Yu BP.  Effects of Aloe vera ingestion in the rat. I. Growth food and fliud intake and serum chemistry.  Phytother Res 1998;12(3):183-8.

118.     Shah AH, Qureshi S, Tariqu M, Ageel AM. Toxicity study on six plants use in the traditional Arab system of medicine. Phytother Res 1989;3(1):26-9.

119.     Bhakuni DS, Dhar ML, Dhar MM, Dhawan BN, Gupta B, Srimali RC. Screening of Indian plants for biological activity Part III. Indian J Exp Biol 1971;9:91.

120.     Parra AL,Yhebra RS, Sardinas IG, Buela I.  Comparative study of the assay of Artemia salina l. And the estimate of the medium lethal dose (LD50 value) in mice, to determine oral acute toxicity of plant extracts.  Phytomedicine 2001;8(5):395-400. 

121.     Pande S, Kumar M, Kumar A. Radioprotective efficacy of Aloe vera leaf extract.  Pharmaceutical Biol 1998;36(3):227-32.

122.     Dhar ML, Dhar MM, Dhawan BN, Mehroira BN, Ray C. Screening of Indian plants for biological activity.  Part I. Indian J Exp Biol 1968;6:232-47.

123.     Herlihy JT, Kim JD, Kalu DN, et al.  Effects of Aloe vera ingestion in the rat. II. Hormonal and metabolic characteristics. Phytother Res 1998;12(5):355-60.

124.     Solov’eva VP. Effect of aloe extract on some biochemical indicators of normal and sick persons. Vrachebnoe Delo 1958:93-4.

125.     Stimpson HS.  Aloes socotrins.   Am Inst Homeopathy 1926;19:101-4.

126.     Hashimoto T. Experimental investigation of the effect aloetics on the femele genitals of the normal rabbit.  Japanese Jour Obstet Gynecol 1930;13(1):54-8.

127.     Dominguez-Soto L. Photodermatitis to Aloe vera. Int Dermatol 1992;31(5):372.

128.     Gonnard P, Pelou A, Schmitt H. Histaminic action of therapeutic tissue extract.  Ann Pharm Frang 1952;10:607-10.

129.     Morrow DM, Rapaport MJ, Strick RA. Hypersensitivity to aloe. Arch Dermatol 1980;116(9):1064-5.

130.     Gerchow J.  Poisoning with anthraquinone derivatives. Med Monatsschr 1951;5:328-30.

131.     Schmidt L. Pharmacology and toxicology of laxatives. Naunyn-Schmiedebergs Archiv exptl Pathol Pharmakol 1955;26:207-18.

132.     Berrar M. The action of aloin on the metabolism. A contribution to the physiology of artificial gout and artificial fever.  Biochem Z 49:426.

133.     Wang W, Cuyckens F, Van den Heuvel H, et al. Structural characterization of chromone C-glucosides in a toxic herbal remedy.  Rapid Commun Mass Spectrom 2003;17(1):49-55.

134.     Zhou Y, Feng Y, Wang H, yang H, Feng X, Yu Z. et al. 90-day subchronic toxicity study of aloe whole-leaf powder. Weisheng Yanjiu 2003;32(6):590-3.

135.     Jirakulchaiwaong S, Wongkrajang Y, Bunyapraphatsara N, Atisook K. Toxicological evaluation of fresh and preserved aloe gel. Proceedings of a Symposium held on the Occasion of the 60th Brithday of Professor Norman R. Farnsworh, 1990:91-7.

136.     Fogleman RW, Shellenberger TE, Balmer MF, Carpenter RH, McAnalley BH. Subchronic oral administration of acemannan in the rat and dog. Vet Hum Toxicol 1992;34(2):144-7.

137.     Wattanasrisin J. Effects of Aloe vera gel on serum transaminases, BUN and creatinine levels in weanling rats.  MS Thesis, Bangkok: Mahidol University, 1988. p.355-6.

138.     Fogleman RW, Chapdelaine JM, Carpenter RH, McAnalley BH. Toxicologic evaluation of acemannan in the mouse, rat and dog.  Vet Hum Toxicol 1992;34(3):201-5.

139.     Degtiarenko TV. The effect of tissue preparations on the developments of anaphylaxis.  Oftalmologicheskii Zhurnal 1990;(7):428-32.

140.     Bharduri B, Ghese CR, Bose AN, Moza BK, Basu UP. Antifertility activity of some medicinal plants.  Indian J Exp Biol 1968;6:252-3.

141.     Procrnow L. Experimantal contribution to the study of the action of popular abortifacients. Arch Intern Pharmacodyn 1912;21:313-9.

142.     Fahim MS, Wang M. Zinc acetate and lyophilized Aloe barbadensis as vaginal contraceptive. Contraceptions 1996;53(4):231-6.

143.     Goswami GS, Bokadia MM. The effect of extracts of Aloe barbadensis leaves on the fertility of female rats.  Indian Drugs 1979;16:124-6.

144.     Gupta ML, Gupta TK, Bhargava KP. A study of antifertility effects of some indegenous drugs.  J Res Indian Med 1971;6:112-6.

145.     Prakash AO, Gupta RB, Mathur R. Effect of oral administration of forty-two indigeneous plant extracts on early and late pregnancy in albino rats.  Probe 1978;17(4):316-23.

146.     Nath D, Sethi N, Singh RK, Jain AK. Commonly used Indian abortifacient plants with special reference to their teratologic effects in rats. J Ethnopharmacol 1992;36(2):147-54.

147.     Mahmoud I, Alkofahi A, Abdelaziz A.  Mutaginic and toxic activities of several species and some Jordanian medicinal plants.  Int J Pharmacog 1992;30(2):81-5.

148.     Brown JP, Dietrich PS.  Mutagenicity of anthraquinone and benzanthrone derivatives in the Salmanella/microsome test: activation of anthraquinone glycosides by enzymic extracts of rat cecal bacteria.  Mutat Res 1979;66(1):9-24.

149.     Westhendorf J, Marqurdt H, Poginsky B, Dominiak M, Schmidt J, Marquardt H.  Genotoxicity of naturally occurring hydroxyanthraquinoes.  Mutat Res 1990;240(1):1-12.

150.     Badria FA.  Is man helpless against cancer?  Enrivomental approach:  antimutagenic agents from Egyptian food and medicinal preparations. Cancer Lett 1994;84(1):1-5.

151.     Inahara K, Nakasugi T. Mutagen inhibitors containing aloe extracts. Patent: Jpn Kokai Tokkyo Koho JP 07 53,397 [95 53,397] 1995;13pp.

152.     Nakasugi T. Komai K. Antimutagen of Aloe plants. Kinki Daigaku Nogakubu Kiyo 1994;27:47-54.

153.     Lee KH, Kang HG, Cho CH, Lee MJ, Lee JH, Kim CH. Antimutagenic and antileukaemic activities of Aloe vera L. Nat Prod Sci 2000;6(2):56-60.

154.     Lee KH, Kim JH, Lim DS, Kim CH. Antileukamic and antimutagenic effects of di (2-ethylhexyl) phthalate isolated from Aloe vera Linn.  J Pharm Pharmacol 2000;52(5):593-8.

155.     Winters WD, Benavides R, Clouse WJ. Effects of aloe extracts on human normal and tumor cells in vitro.  Economic Bot 1981;35(1):89-95.

156.     Belkin M, Fitzgerald DB. Tumor-damaging capacity of plant material. JNCI 1952;13:139-55.

157.     Grimaudo S Tolomeo M, Gancitano RA, D’Slessandro N, Aiello E. Effects of highly purified anthraquinoid compounds form Aloe vera on sensitive and multidrug-resistant leukemia cells. Oncol Rep 1997;4(2):341-3.

158.     Buttiner M, Bhakuni DS, Silva M. Anticancer agents from Chilean plants: Cassia obtusa. Rev Latinoam Quit 1973;4(1):8-14.

159.     Lee KH, Hong HS, Lee CH, Kim CH. Induction of apoptosis in human leukaemic cell lines K562, HL60 and U937 by diethylhexylphthalate isolated from Aloe vera Linn. J Pharm Pharmacol 2000;52(8):1037-41.

160.     วีณา ศิลปอาชา.   ตำรายากลางบ้าน.  กรุงเทพฯ: โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง, 2529.

161.     โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง.   คู่มือว่านหางจระเข้สมุนไพรมหัศจรรย์จากธรรมชาติ. กรุงเทพฯ: ภาพพิมพ์, 2527.

162.     อาจินต์ ปัญจพรรค์.   เมืองไทย 16 ค่ำ. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เจริญกิจ, 2517.