บอระเพ็ด




1. ชื่อสมุนไพร บอระเพ็ด

ชื่อวิทยาศาสตร์           Tinospora crispa (L.) Miers ex Hook.f. & Thomson

ชื่อวงศ์                     MENISPERMACEAE

ชื่อพ้อง                     Menispermum crispum  L.

          Tinospora tuberculata Beumee ex K.Heyne

ชื่ออังกฤษ                 -

ชื่อท้องถิ่น                 เครือเขาฮอ จุ่งจิง เจตมูลหนาม ตัวเจตมูลยาน เถาหัวด้วน หางหนู

2. ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

6 กลีบ ผลกลมรี มีเนื้อบางๆ หุ้มเมล็ด (1)

3. ส่วนที่ใช้เป็นยาและสรรพคุณ

เถารสขม เย็น ทั้งราก ต้น และใบ ใช้เป็นยาแก้ไข้ ยาเจริญอาหาร ยาอายุวัฒนะ ช่วยย่อย บำรุงน้ำดี บำรุงไฟธาตุ แก้โรคกระเพาะ บำรุงร่างกาย ขับเหงื่อ ดับกระหาย แก้ร้อนใน (1)

4. สารที่เชื่อว่าเป็นสารออกฤทธิ์ หรือสารที่ใช้ประเมินคุณภาพของสมุนไพร

สารขมชื่อ picroretin, columbin, picroretroside  สารกลุ่มไตรเทอปีนอยส์ เช่น borapetoside A, borapetoside B, borapetol A, tinocrisposide และสารกลุ่มอัลคาลอยด์ เช่น N-formylannonaine, N-acetylnornuciferine เป็นต้น (2)

5. ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา

ฤทธิ์แก้ไข้

การทดสอบป้อนสารสกัดน้ำจากเถาบอระเพ็ด ขนาด 100, 200 และ 300 มก./กก.น้ำหนักตัว ให้หนูแรทที่เป็นไข้จากการฉีดวัคซีนไทฟอยด์ พบว่าสารสกัดจากบอระเพ็ดทั้ง 3 ขนาด ออกฤทธิ์ลดไข้ได้หลังจากการป้อนสารสกัด 3, 2 และ 1 ชั่วโมง ตามลำดับ แต่ให้ประสิทธิภาพด้อยกว่าการใช้ยาแอสไพริน ขนาด 6.5 มก./กก.น้ำหนักตัว (3, 4) สารสกัดน้ำจากเถาบอระเพ็ดขนาด 200, 400 และ 600 มก./กก. น้ำหนักตัว มีฤทธิ์ลดไข้ในหนูเม้าส์ที่เป็นไข้จากการเหนี่ยวนำด้วย lipopolysaccharide (LPS) สามารถลดไข้ตั้งแต่ 1 ชม.แรกหลังการป้อน โดยสารสกัดที่ขนาด 600 มก./กก. มีประสิทธิภาพเทียบเท่าการใช้ยาพาราเซตามอล 500 มก./กก. และยาแอสไพริน 400 มก./กก. (5) สารสกัดน้ำขนาด 200 มก./กก. ยังให้ฤทธิ์ลดไข้ในกระต่ายที่ได้เป็นไข้จากการเหนี่ยวนำด้วย LPS ได้ในชั่วโมงที่ 3 หลังการป้อน และสามารถคงฤทธิ์ต่อเนื่องไปถึงชั่วโมงที่ 5 (6) นอกจากนี้ยังช่วยลดอุณหภูมิในร่างกายและอัตราการหายใจของไก่ที่อยู่ในภาวะเครียดเนื่องจากได้รับความร้อน โดยให้ไก่กินอาหารที่ส่วนผสมของบอระเพ็ดที่ขนาด 5, 14 และ 23 ก./กก.อาหาร เป็นเวลา 21 วัน เทียบกับการป้อนวิตามินซี 200 มก./กก. อาหาร พบว่ากลุ่มที่ได้รับบอระเพ็ดที่ขนาดสูงจะมีอุณหภูมิร่างกายต่ำที่สุด และมีอัตราการหายใจต่ำกว่ากลุ่มอื่นอย่างมีนัยสำคัญ (7, 8)

สำหรับการศึกษาทางคลินิก พบว่ายังอยู่ระหว่างการศึกษาเบื้องต้นเพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการลดไข้ของสารสกัดจากต้นบอระเพ็ดเปรียบเทียบกับยา acetaminophen (พาราเซตามอล) ในผู้ป่วย 96 คนที่มีอาการไข้ อุณหภูมิร่างกายระหว่าง 37.8-38.5 องศา แบ่งให้รับประทานยา acetaminophen (พาราเซตามอล) 1,000 มก. ทุก 6 ชม. หรือสารสกัดบอระเพ็ด  ขนาด 2,000 มก. วันละ 2 ครั้ง หรือยาหลอก แล้วทำการตรวจวัดอุณหภูมิที่เวลา 1, 2, 4, 6, 8 และ 24 ชม. หลังการรับประทาน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอการสรุปผล (9)

ฤทธิ์แก้ปวดและต้านการอักเสบ

สารสกัดเอทานอลจากเถาบอระเพ็ดสามารถลดอาการปวดในหนูเม้าส์จากการกระตุ้นด้วย acetic acid โดยสารสกัดที่ขนาด 300 มก./กก.น้ำหนักตัว ให้ฤทธิ์บรรเทาปวดได้ดีกว่าการใช้ acetyl salicylic acid 100 มก./กก.น้ำหนักตัว (10) สารสกัดเมทานอลจากส่วนเถา ขนาด 50, 100 และ 150 มก./กก. มีฤทธิ์ยับยั้งการบวมของอุ้งเท้าหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการบวมด้วยคาราจีแนนได้ตามขนาดของสารสกัดที่ให้ สามารถยับยั้งการบวมแบบเฉียบพลันได้ตั้งแต่เริ่มให้สารสกัดไปจนถึงชั่วโมงที่ 5 ของการทดสอบ เทียบเท่ากับการใช้ยาไอบูโฟรเฟน 10 มก./กก.น้ำหนักตัว (11) 

ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อไข้มาลาเรีย

สารสกัดเมทานอลจากส่วนต้นความเข้มข้น 2.5 มก./มล. สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อมาลาเรีย Plamodium falciparum ได้ 100% เมื่อบ่มไว้ 72 ชั่วโมง (12) สารสกัดน้ำจากเถาบอระเพ็ดยับยั้งเชื้อ P. falciparum w2 (chloroquine-sensitive strain) ด้วยค่า IC50 25 มคก./มล. (13) เมื่อป้อนสารสกัดน้ำจากเถาบอระเพ็ดขนาด 110 มก./กก.น้ำหนักตัว ให้แก่หนูเม้าส์เพศเมียที่ติดเชื้อมาลาเรียจากการเหนี่ยวนำด้วยการได้รับเชื้อ P. yoelii สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อได้มากกว่า 50% (2) การทดสอบในหนูเม้าส์ที่ได้รับเชื้อไข้มาลาเรีย P. berghei ANKA จากนั้นฉีดสารสกัดหยาบจากบอระเพ็ดขนาด 20, 100 และ 200 มก./กก.เข้าทางช่องท้อง พบว่าที่ขนาดกลางและสูงสามารถยับยั้งเชื้อมาลาเรียได้ที่ 35 และ 50% ตามลำดับ เมื่อใช้ร่วมกับยารักษามาลาเรียไพริเมทามีน (pyrimethamine) 1.0 มก./กก. จะให้ผลเสริมฤทธิ์กัน ดีกว่าการใช้ยาเพียงอย่างเดียว และเมื่อใช้ร่วมกับสารสกัดที่ขนาดสูง (200 มก./กก.) จะสามารถยับยั้งเชื้อได้อย่างสมบูรณ์ (14) นอกจากนี้สารสกัดจากบอระเพ็ดยังป้องกันความเสียหายของตับของหนูเม้าส์ที่ได้รับเชื้อมาลาเรีย P. berghei โดยเมื่อป้อนสารสกัดน้ำจากบอระเพ็ดขนาด 500 มก./กก. วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกัน 4 วัน มีผลปกป้องตับไม่ให้เสียหายจากการได้รับเชื้อมาลาเรีย ลดระดับเอนไซม์ในตับ ได้แก่ aspartate aminotransferase, alanine aminotransferase เพิ่มระดับ albumin ในเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญ (15)

ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด

มีการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่าสารสกัดน้ำและสารสกัด 95% เอทานอลจากส่วนเถาบอระเพ็ด มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด ในหนูที่เป็นเบาหวานจากการกระตุ้นด้วย alloxan (16-18) และหนูแรทที่มีภาวะอ้วน (19) สารสำคัญจากบอระเพ็ด ได้แก่ borapetoside A, B และ C สามารถลดน้ำตาลในเลือดของหนูที่เป็นเบาหวานจากการเหนี่ยวนำด้วย streptozotocin โดยออกฤทธิ์เกี่ยวข้องกับการเพิ่มระดับอินซูลิน กระตุ้นการสังเคราะห์ไกลโคเจนในกล้ามเนื้อ กระตุ้นการใช้กลูโคสของเซลล์ และลดการสะสมน้ำตาลในเซลล์ เป็นผลให้ระดับของน้ำตาลในเลือดลดลง (20-22)

การศึกษาทางคลินิกถึงฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดกลับให้ต่างจากการทดสอบในสัตว์ทดลอง คือมีทั้งส่วนที่ได้ผลและไม่ได้ผลลดน้ำตาลทั้งในอาสาสมัครปกติและอาสาสมัครที่เป็นเบาหวาน การศึกษาในอาสาสมัครสุขภาพดีจำนวน 9 คน ให้รับประทานผงบอระเพ็ดครั้งละ 4 และ 6 กรัม แบบครั้งเดียว ก่อนการทดสอบความทนต่อน้ำตาลด้วยการรับประทานสารละลายกลูโคส ไม่พบผลต่อความทนต่อระดับน้ำตาลในเลือด (glucose tolerance) แต่เมื่อให้อาสาสมัครอีก 6 ราย รับประทานในขนาดเดียวกัน พบว่าระดับน้ำตาลในเลือดของอาสาสมัครลดลงอย่างมีนัยสำคัญหลังการรับประทาน 120 นาที โดยไม่มีผลต่อระดับอินซูลินในเลือด ต่อมาให้อาสาสมัคร 12 คน ให้รับประทานผงบอระเพ็ด ขนาด 1 ก. วันละ 3 ครั้งก่อนอาหาร ติดต่อกัน 4 สัปดาห์ ไม่พบผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด และอาสามัครที่เข้าร่วมการศึกษามีแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของเอนไซม์ในตับ (23) การศึกษาในผู้อาสาสมัครสุขภาพดี 10 คน และผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 10 คน ให้รับประทานแคปซูลผงบอระเพ็ด ก่อนการทดสอบความทนต่อน้ำตาล ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญของระดับน้ำตาลในเลือด และระดับอินซูลินในเลือดระหว่างก่อนและหลังการรับประทานผงบอระเพ็ดทั้งสองขนาด (24) และการศึกษาในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ไม่ตอบสนองต่อการใช้ยารักษาเบาหวานและปฏิเสธการใช้อินซูลินแบบฉีด จำนวน 20 คน แบ่งให้รับประทานผงจากเถาบอระเพ็ด ครั้งละ 1 กรัม วันละ 3 ครั้ง หรือยาหลอก เป็นเวลา 6 เดือน ไม่พบฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของบอระเพ็ด และมีผู้ป่วย 2 รายที่มีระดับดับเอนไซม์ในตับเพิ่มสูงขึ้น (25) อย่างไรก็ตามพบรายงานว่าบอระเพ็ดสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยภาวะอ้วนลงพุง ที่รับประทานแคปซูลผงบอระเพ็ดขนาด 250 มก. วันละ 2 ครั้ง หรือยาหลอก เป็นเวลา 2 เดือน พบว่าสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับก่อนการรับประทาน (26)

6. ข้อควรระวัง/อาการข้างเคียง

ยังไม่พบรายงาน

7. ความเป็นพิษทั่วไป

การศึกษาความเป็นพิษแบบเฉียบพลันในสัตว์ทดลอง เมื่อป้อนสารสกัดสกัดเอทานอลจากเถาบอระเพ็ดให้หนูเม้าส์ที่ขนาด 4 ก./กก.น้ำหนักตัว (เทียบเท่ากับการป้อนผงแห้ง 28.95 ก./กก.น้ำหนักตัว) ไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษ (27) การทดสอบกึ่งเรื้อรังในหนูแรท โดยป้อนสารสกัดจากเถาบอระเพ็ด ขนาด 200 และ 500 มก./กก. ต่อเนื่องเป็นเวลา 30 วัน ไม่พบความผิดปกติของสัตว์ทดลองและค่าชีวเคมีในเลือด การศึกษาพิษแบบเรื้อรังของสารสกัดเอทานอลของเถาบอระเพ็ดพบว่ามีแนวโน้มก่อให้เกิดความผิดปกติของตับและไต เมื่อป้อนหนูเม้าส์ด้วยสารสกัดเอทานอลวันละ 1.28 ก. (เทียบเท่ากับเถาแห้ง 9.26 ก./กก. น้ำหนักตัว) ติดต่อกันเป็นเวลา 6 เดือน พบค่าเอนไซม์ที่เป็นดัชนีชี้วัดการทำงานของตับและไตเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งบ่งชี้ถึงความเป็นพิษต่อตับ (27)

มีรายงานว่าบอระเพ็ดก่อให้ความเป็นพิษต่อตับในชายชาวเวียดนาม อายุ 49 ปี ที่รับประทานยาเม็ดจากบอระเพ็ด วันละ 10 เม็ด (ไม่ระบุขนาดต่อเม็ด) ติดต่อกัน 4 สัปดาห์ โดยพบว่าปัสสาวะมีสีเข้ม อุจจาระสีอ่อน และมีอาการดีซ่าน เมื่อตรวจวัดพบระดับเอนไซม์ในตับสูงขึ้นเกิดค่าปกติ และค่าเหล่านี้กลับสู่ภาวะปกติภายใน 2 เดือนหลังหยุดรับประทาน (28)  และการศึกษาในอาสาสมัครสุขภาพดี จำนวน 12 คน ให้รับประทานบอระเพ็ด ขนาด 1 ก. วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกัน 8 สัปดาห์ ไม่พบรายงานการเปลี่ยนแปลงต่อค่าชีวเคมีอื่นในเลือด แต่แนวโน้มของระดับเอนไซม์ในตับสูงขึ้น (23) แสดงให้เห็นว่าการใช้บอระเพ็ดติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อตับ หากต้องการใช้ควรมีติดตามและตรวจสอบการทำงานของตับเป็นระยะ หากพบว่าเกิดความผิดปกติหรือค่าเอนไซม์เพิ่มสูงขึ้นควรหยุดรับประทาน และไม่แนะนำให้ผู้ที่มีภาวะเอนไซม์ตับบกพร่อง หรือผู้ที่มีประวัติเป็นโรคตับและไตใช้บอระเพ็ด

8. วิธีการใช้ 

การเตรียมยาสมุนไพรแบบง่ายและวิธีใช้ตามตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข(สาธารณสุขมูลฐาน) (29)

แบบยาต้ม: ใช้เถาสด 2 คืบครึ่ง (30 - 40 ก.) นำไปต้มกับน้ำ 3 ส่วน เคี่ยวจนเหลือ 1 ส่วน กรองเอาแต่น้ำมารับประทานวันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหาร เช้า-เย็น

แบบชาชง: ใช้เถาโตเต็มที่ มาหั่นเป็นแว่น ตากแห้ง จากนั้นนำไปบดพอหยาบ เมื่อต้องการรับประทาน ใช้ผงบอระเพ็ด 1 ช้อนชา ชงกับน้ำร้อน 1 แก้ว ชงทิ้งไว้ 3-5 นาที จากนั้นกรองเอาแต่น้ำ ดื่มวันละ 2 เวลา ก่อนอาหารเช้า-เย็น

8. อันตรกิริยาระหว่างสมุนไพรกับยาแผนปัจจุบัน

สารสกัดเมทานอลจากเถาบอระเพ็ด สามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ CYP3A4 และ CYP2D6 ด้วยค่า IC50 เท่ากับ 428 และ 488 ไมโครกรัม/มล. ตามลำดับ (30) และเมื่อบ่มเซลล์ตับในสารสกัดเมทานอลจากเถาบอระเพ็ดในขนาด 1.65 มก./มล. ร่วมกับยา erythromycin หรือ dextromethorphan ซึ่งเป็นยาที่จะถูกเมตาบอลิสมด้วยเอนไซม์ CYP3A4 และ CYP2D6 ตามลำดับ พบว่าการเมตาบอลิสมของยาลงมากกว่า 70% (31) และมีรายงานว่าสารสกัดจากบอระเพ็ดยับยั้งการทำงานของยับยั้ง CYP1A1 แต่กระตุ้นการทำงานของ CYP2E1 (32)  จึงควรระมัดระวังการใช้ร่วมกับยายาบางชนิดที่ถูกเมตาบอไลต์ด้วยเอนไซม์ CYP450 เหล่านี้

เอกสารอ้างอิง

1.      นันทวัน บุณยะประภัศร และ อรนุช โชคชัยเจริญพร. สมุนไพรไม้พื้นบ้าน เล่ม 2. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ประชาชน; 2541. 640 หน้า p.

2.      Ahmad W, Jantan I, Bukhari SN. Tinospora crispa (L.) Hook. f. & Thomson: A review of its ethnobotanical, phytochemical, and pharmacological aspects. Front Pharmacol. 2016;7:59.

3.      ศรันย์ กอสนาน. การสำรวจฤทธิ์ลดไข้ของสมุนไพรไทย. ปัญหาพิเศษเภสัชศาสตร์บัณฑิต. กรุงเทพ: มหาวิทยาลัยมหิดล; 2532.

4.      บุญเทียม คงศักดิ์ตระกูล, รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล, วิสุดา สุวิทยาวัฒน์, ยุวดี วงค์กระจ่าง. การศึกษาฤทธิ์ลดไข้ของบอระเพ็ด. วารสารเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. 1994;21(1):1-6.

5.      อรวรรณ เรืองสมบูรณ์. ผลของการสกัดบอระเพ็ดต่อไข้ที่เหนี่ยวนำด้วยไลโปโพลีแซคคาไรด์ในหนูขาว การประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 24; กรุงเทพ2541. p. 648-9.

6.      บุญเทียม คงศักดิ์ตระกูล, ยุวดี วงษ์กระจ่าง, สุจิตร ทองประดิษฐ์โชติ. การทดสอบฤทธิ์ลดไข้ของบอระเพ็ด. มหาวิทยาลัยมหิดล; 2000.

7.      วรพล เองวานิช, อรวรรณ ชินราศรี, รังสรรค์ ชีมุน, พนม แสนป้อง, สาวิตรี แสนนาม, ลำปาง มะโนธรรม. ผลของบอระเพ็ดต่อประสิทธิภาพการผลิต อุณหภูมิร่างกาย อัตราการหายใจ โลหิตวิทยา และชีวเคมีโลหิตในไก่เนื้อเมื่ออยู่ในภาวะเครียดเนื่องจากความร้อน การประชุมวิชาการ : สมุนไพรไทยโอกาสและทางเลือกใหม่ของอุตสาหกรรมผลิตสัตว์; 2002 24-25 ตุลาคม 2545; กรุงเทพ.

8.      วรพล เองวานิช, อรวรรณ ชินราศรี, รังสรรค์ ชีมุน, พนม แสนป้อง, สาวิตรี แสนนาม, ลำปาง มะโนธรรม. ผลของบอระเพ็ดต่อประสิทธิภาพการผลิตอุณหภูมิร่างกาย อัตราการหายใจ โลหิตวิทยา และชีวเคมีโลหิตในไก่เนื้อเมื่ออยู่ในภาวะเครียดเนื่องจากความร้อน สมุนไพรไทย: โอกาสและทางเลือกใหม่ของอุตสาหกรรมการผลิตสัตว์; 2004 15-16 มกราคม 2547; กรุงเทพ.

9.      Aramwit P. Study of efficacy and safety of Tinospora crispa-extract product compared with the acetaminophen: www.clinicaltrials.gov; 2013 [cited 2017 Decemcer 1st]

10.  Sulaiman MR, Zakaria ZA, Lihan R. Antinociceptive and anti-inflammatory activities of Tinospora crispa in various animal models. . Int J Trop Med. 2008;3:66-9.

11.  Hipol RLB, Cariaga MFNM, Hipol RM. Anti-inflammatory activities of the aqueous extract of the stem of Tinospora crispa (Family Menispermaceae). J Nat Stud. 2012;11:88-95.

12.  Najib NAR, Furuta T, kojima S, Takane K, Ali Mohd M. Antimalarial activity of extracts of Malaysian medicinal plants. J Ethnopharmacol. 1999;64(3):249-54.

13.  Bertani S, Bourdy G, Landau I, Robinson JC, Esterre P, Deharo E. Evaluation of French Guiana traditional antimalarial remedies. J Ethnopharmacol. 2005;98(1):45-54.

14.  Niljan J, Jaihan U, Srichairatanakool S, Uthaipibull C, Somsak V. Antimalarial activity of stem extract of Tinospora crispa against Plasmodium berghei infection in mice. J Health Res. 2014;28(3):199-204.

15.  Somsak V, Kittitorn J, Chachiyo S, Srichairatanakool S, Uthaipibull C. Effect of aqueous crude extract of Tinospora crispa on Plasmodium Berghei induced liver damage in mice. Malar Chemoth Cont Elimination. 2015;4(1):100127.

16.  Noor H, Ashcroft SJ. Antidiabetic effects of Tinospora crispa in rats. J Ethnopharmacol. 1989;27(1-2):149-61.

17.  Noor H, Hammonds P, Sutton R, Ashcroft SJ. The hypoglycaemic and insulinotropic activity of Tinospora crispa: studies with human and rat islets and HIT-T15 B cells. Diabetologia. 1989;32(6):354-9.

18.  Noor H, Ashcroft SJ. Pharmacological characterisation of the antihyperglycaemic properties of Tinospora crispa extract. J Ethnopharmacol. 1998;62(1):7-13.

19.  Abu MN, Samat S, Kamarapani N, Nor Hussein F, Wan Ismail WI, Hassan HF. Tinospora crispa ameliorates insulin resistance induced by high fat diet in wistar rats. Evid Based Complement Alternat Med. 2015;2015:985042.

20.  Lam SH, Ruan CT, Hsieh PH, Su MJ, Lee SS. Hypoglycemic diterpenoids from Tinospora crispa. J Nat Prod. 2012;75(2):153-9.

21.  Ruan CT, Lam SH, Chi TC, Lee SS, Su MJ. Borapetoside C from Tinospora crispa improves insulin sensitivity in diabetic mice. Phytomedicine. 2012;19(8-9):719-24.

22.  Ruan CT, Lam SH, Lee SS, Su MJ. Hypoglycemic action of borapetoside A from the plant Tinospora crispa in mice. Phytomedicine. 2013;20(8-9):667-75.

23.  สดุดี รัตนจรัสโรจน์, ธีระกุล ปิ่นทอง, ไพจิตร์ วราชิต, จารีย์ บันสิทธิ์, มาลี บรรจบ, เย็นจิตร เตชะดำรงสิน. ผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดและความปลอดภัยของบอระเพ็ดในอาสาสมัครคนไทยปกติ วารสารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์. 2547;46(2):72-88.

24.  Klangjareonchai T, Roongpisuthipong C. The effect of Tinospora crispa on serum glucose and insulin levels in patients with type 2 diabetes mellitus. J Biotechnol. 2012;2012:808762.

25.  Sangsuwan C, Udompanthurak S, Vannasaeng S, Thamlikitkul V. Randomized controlled trial of Tinospora crispa for additional therapy in patients with type 2 diabetes mellitus. J Med Assoc Thai. 2004;87(5):543-6.

26.  Sriyapai C, Dhumma-Upakorn R, Sangwatanaroj S, Kongkathip N, Krittiyanunt S. Hypoglycemic effect of Tinospora crispa dry powder in outpatients with metabolic syndrome at King Chulalongkorn Memorial Hospital 2009. 125-33 p.

27.  Chavalittumrong P, Aimmanas A, Anchalee C, Pranee C. Toxicological study of crude extract of Tinospora crispa Mier ex Hook F. & Thoms. Thai J Pharm Sci. 1997;21:199-210.

28.  Langrand J, Regnault H, Cachet X, Bouzidi C, Villa AF, Serfaty L, et al. Toxic hepatitis induced by a herbal medicine: Tinospora crispa. Phytomedicine. 2014;21(8-9):1120-3.

29.  สำนักงานคณะกรรมการสาธารณสุขมูลฐาน. สมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐาน. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์องค์การทหารผ่านศึก; 2542.

30.  Usia T, Iwata H, Hiratsuka A, Watabe T, Kadota S, Tezuka Y. CYP3A4 and CYP2D6 inhibitory activities of Indonesian medicinal plants. Phytomedicine. 2006;13(1-2):67-73.

31.  Subehan, Usia T, Iwata H, Kadota S, Tezuka Y. Mechanism-based inhibition of CYP3A4 and CYP2D6 by Indonesian medicinal plants. J Ethnopharmacol. 2006;105(3):449-55.

32.  Saiphet O. Subacute effects of Tinospora crispa stem extract on hepatic cytochrome P450 and clinical blood chemistry in rats. Thesis. Master degree in Pharmacology. Bangkok: Mahidol University; 2017.