พริกไทย




1.   ชื่อสมุนไพร                   พริกไทย

           ชื่อวิทยาศาสตร์         Piper nigrum L.

           ชื่อวงศ์                     Piperaceae

           ชื่อพ้อง                    Piper aromaticum Lam.

           ชื่ออังกฤษ                Black pepper, Pepper

           ชื่อท้องถิ่น                 พริกน้อย

 

2.   ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

      ไม้เถาเนื้อแข็ง เลื้อยเกาะ งอกรากที่ข้อ ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปวงรี โคนใบมนหรือรูปหัวใจปลายใบแหลม กว้าง 5-14 ซม. ยาว 13-18 ซม. ดอกช่อเชิงลดออกที่ซอกใบ ไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก ใบประดับรูปขอบขนานแกมรูปดาบ ผลสดรูปทรงกลม เมื่อสุกสีแดง (1)

 

3.   ส่วนที่ใช้เป็นยาและสรรพคุณ

     ผลและเมล็ด  ใช้ขับลม แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ บำรุงธาตุ ทำให้เจริญอาหาร                 

 

4.   สารสำคัญที่เป็นสารออกฤทธิ์

     สารสำคัญในพริกไทย ประกอบด้วยน้ำมันหอมระเหย ซึ่งเป็นสารที่ให้ความหอมในพริกไทย (2-7) และสารกลุ่มอัลลคาลอยด์ ซึ่งให้รสเผ็ดร้อนและกลิ่นฉุนในพริกไทย ได้แก่ พิเพอรีน (piperine) (3, 4, 8-12),   พิเพอริดีน (piperidine) (2, 13) พิเพอไซด์ (pipercide) (14) เพลลิโตรีน (pellitorine) (15) เป็นต้น  

 

5.   ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา

      5.1 ฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของเอนไซม์เกี่ยวกับการย่อยอาหาร

          เมื่อป้อนหนูแรทด้วยสารพิเพอรีน ขนาด 10 มก./ตัว เพียงครั้งเดียว พบว่ามีผลเพิ่มการทำงานของเอนไซม์อะไมเลส (amylase)  ไลเปส (lipase) และซูเครส (sucrase) ในเยื่อบุผนังลำไส้เล็กของหนู และเพิ่มการทำงานของเอนไซม์อะไมเลสในตับอ่อนของหนูได้เล็กน้อย แต่ไม่มีผลต่อการทำงานของเอนไซม์ไลเปส ทริปซิน (trypsin) และไคโมทริปซิน (chymotrypsin) ในตับอ่อนของหนู (16) ขณะที่เมื่อให้หนูแรทกินอาหารที่มีสารพิเพอรีนผสมอยู่ 20 มก. โดยไม่จำกัดปริมาณ เป็นเวลา 8 สัปดาห์ (16, 17) พบว่ามีผลกระตุ้นการทำงานเอนไซม์ที่เกี่ยวกับการย่อยอาหาร ได้แก่ ไลเปส ซูเครส และมอลเตส (maltase) ในเยื่อบุผนังลำไส้เล็กของหนู (17) และเอนไซม์ไลเปส อะไมเลส ทริปซิน และไคโมทริปซินในตับอ่อนของหนู (16)

          การศึกษาผลของเครื่องเทศผสม (spice mixes) ต่อเอนไซม์ที่เกี่ยวกับการย่อยอาหาร โดยให้หนูแรทกินอาหาร 3 สูตร ที่ผสมเครื่องเทศหลายชนิดได้แก่ ขมิ้นชัน (Curcuma longa) พริก (Capsicum annum) พริกไทยดำ ผักชี (Coriandrum sativum) เทียนขาว (Cuminum cymminum)  ขิง (Zingiber officinale) และหัวหอมใหญ่ (Allium cepa) ในอัตราส่วนต่างๆ กัน โดยแต่ละสูตรมีพริกไทยเป็นส่วนประกอบอยู่ 5%, 20% และ 5% ตามลำดับ เป็นเวลา 8 สัปดาห์ พบว่าเครื่องเทศผสมทั้ง 3 สูตร มีผลเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ไลเปส  อะไมเลส และไคโมทริปซินในตับอ่อนของหนู (18)

      5.2 ฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งน้ำดี

          การศึกษาผลของพริกไทยดำและสารพิเพอรีนต่อการหลั่งน้ำดีและองค์ประกอบในน้ำดี โดยป้อนหนูแรทเพียงครั้งเดียวด้วยพริกไทยดำ ขนาด 250 และ 500 มก./กก. และสารพิเพอรีน ขนาด 12.5 และ 25 มก./กก. หรือให้กินอาหารที่มีพริกไทยดำผสมอยู่ 0.2% และ 0.4% และสารพิเพอรีน  0.01% และ 0.02% เป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่าในการให้พริกไทยดำขนาด 250 มก./กก. เพียงครั้งเดียวมีผลทำให้องค์ประกอบที่เป็นของแข็งในน้ำดี (bile solids) เพิ่มขึ้น แต่พริกไทยดำและสารพิเพอรีนที่ขนาดอื่นๆ ไม่มีผล หนูที่กินอาหารซึ่งผสมพริกไทยดำทำให้การไหลของน้ำดี (bile flow) ไปยังลำไส้เพิ่มขึ้น และองค์ประกอบที่เป็นของแข็งในน้ำดีลดลง พริกไทยดำและสารพิเพอรีนไม่มีผลต่อระดับคอเลสเตอรอลและกรดน้ำดี แต่มีผลเพิ่มการหลั่งของกรดยูโรนิก (uronic acid) ในน้ำดี (19) เมื่อให้หนูแรทกินอาหารที่ผสมเครื่องเทศผสม (spice mixes) 3 สูตร (แต่ละสูตรมีพริกไทยเป็นส่วนประกอบอยู่ 5%, 20% และ 5% ตามลำดับ) เป็นเวลา 8 สัปดาห์ พบว่าเครื่องเทศผสมทั้ง 3 สูตร มีฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งน้ำดีและกรดน้ำดี (18)

      5.3 ฤทธิ์กระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้

          การศึกษาในอาสาสมัคร จำนวน 16 คน โดยให้รับประทานแคปซูลผลพริกไทย ขนาด 1.5 ก. จาก นั้นทำการวัดระยะเวลาที่สารทดสอบเดินทางจากปากถึงลำไส้ใหญ่ (orocecal transit time, OCTT) ด้วยวิธีการวัดค่าก๊าซไฮโดรเจนในลมหายใจออกโดยใช้น้ำตาลแลคทูโลส (lactulose hydrogen breath test) พบว่าค่า OCTT มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังจากรับประทานพริกไทย แสดงว่าพริกไทยมีผลกระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ทำให้อาหารเคลื่อนผ่านได้เร็วขึ้น (20)

      5.4 ฤทธิ์ต่อระยะเวลาการเคลื่อนผ่านของอาหาร

          การศึกษาในหนูแรทที่กินอาหารซึ่งมีพิเพอรีนผสมอยู่ 0.02% เป็นเวลา 6 สัปดาห์ จากนั้นในวันสุด ท้ายของการทดลอง ทำการวัดระยะเวลาที่อาหารเคลื่อนผ่าน (food transit time) (โดยใส่ 0.5% ferric oxide ลงในอาหาร ซึ่งจะใช้เป็นตัวชี้วัดการเคลื่อนของอาหาร เนื่องจากไม่ถูกดูดซึมในลำไส้เล็ก แล้วบันทึกระยะเวลาที่ขับถ่ายอุจจาระซึ่งมีสีแดงออกมาครั้งแรก) พบว่าพิเพอรีนมีผลทำให้ระยะเวลาที่อาหารเคลื่อนผ่านทางเดินอาหารสั้นลง ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับผลในการกระตุ้นการทำงานเอนไซม์ที่เกี่ยวกับการย่อยอาหาร และกระตุ้นการหลั่งน้ำดีของพิเพอรีน (21)

     5.5 ฤทธิ์ต่อการหลั่งสารในกระเพาะอาหาร

          การฉีดสารพิเพอรีน ขนาด 1.3, 8 และ 32 มก./กก. เข้าทางช่องท้องของหนูเม้าส์ปกติและหนูที่ถูกผูกกระเพาะเพื่อศึกษาผลต่อการหลั่งสารในกระเพาะอาหาร พบว่าพิเพอรีนที่ขนาด 8 และ 32 มก./กก. มีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งน้ำย่อย การหลั่งกรด และเอนไซม์เปบซิน (pepsin) ในกระเพาะอาหารของหนูปกติ แต่ไม่มีผลในหนูที่ถูกผูกกระเพาะ (22) สารพิเพอรีนขนาด 20-142 มก./กก. มีฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารของหนูแรท โดยผ่าน histamine H2 receptors แต่มีฤทธิ์น้อยกว่าฮิสตามีน 40 เท่า ซึ่งผลกระตุ้นการหลั่งกรดของพิเพอรีน จะถูกยับยั้งได้ด้วยยา cimetidine ขนาด 1 มก./กก. (23)

      5.6 ฤทธิ์ยับยั้งการส่งอาหารออกจากกระเพาะอาหารไปยังลำไส้ได้หมด (gastric emptying)

          การศึกษาผลของสารพิเพอรีนต่อการส่งอาหารออกจากกระเพาะอาหารไปยังลำไส้ได้หมด (gastric emptying) ในหนูแรท โดยใช้ phenol red แทนของเหลวและลูกแก้ว (glass spheroids) แทนของแข็ง พบว่าสารพิเพอรีน ขนาด 1, 4 และ 16 มก./กก. มีฤทธิ์ยับยั้งการส่งของเหลวและของแข็งออกจากกระเพาะอาหารไปยังลำไส้ได้ โดยฤทธิ์จะแปรผันตามขนาดและระยะเวลา และจะมีผลยับยั้งการส่งของแข็งออกได้มากกว่าของเหลว นอกจากนี้ยังพบว่าสารพิเพอรีน ขนาด 1-32 มก./กก. มีฤทธิ์ยับยั้งการเคลื่อนผ่านของอาหารในระบบทางเดินอาหาร (gastrointestinal transit) ของหนูเม้าส์ด้วย (22)

 

6.   อาการข้างเคียง

            ยังไม่มีรายงาน

7.   ความเป็นพิษ

     7.1 การทดสอบความเป็นพิษ

            การศึกษาความเป็นพิษเฉียบพลันของสารสกัดน้ำจากผลแห้งของพริกไทย พบว่าการป้อนหนูแรท ด้วยสารสกัดครั้งเดียวทางปาก ขนาด 5 ก./กก.นน.ตัว ไม่ก่อให้เกิดอาการพิษ การเปลี่ยนแปลงพฤติ-กรรม การตาย และความแตกต่างของลักษณะทางจุลกายวิภาคของอวัยวะภายใน (24) และการป้อนสารสกัด 95% เอทานอลจากผลขนาด 0.5, 1, 2, 3 และ 5 ก./กก.นน.ตัว เพียงครั้งเดียว ไม่ทำให้หนูแรทตายหรือเกิดอาการผิดปกติ (25) เมื่อให้สารสกัดเอทานอลจากใบแก่หนูแรทที่เป็นเบาหวานในขนาด 5 ก./กก.นน.ตัว ไม่พบความเป็นพิษและความผิดปกติของตับและไตของหนู (26) และการทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันของน้ำมันหอมระเหยจากเมล็ดในหนูแรทและกระต่าย พบว่ามีค่า LD50 มากกว่า 5 ก./กก.นน.ตัว (4)

          เมื่อให้พริกไทย สารโอลีโอเรซิน (oleoresin) หรือสารพิเพอรีนแก่หนูแรท ในขนาด 5-20 เท่าของขนาดที่ให้ในคน พบว่าไม่มีผลต่อการเจริญเติบโต อัตราส่วนของประสิทธิภาพการใช้อาหาร (feed   efficiency ratio) น้ำหนักของอวัยวะ จำนวนของเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาว ระดับของฮีโมโกลบิน โปรตีน อัลบูมิน โกลบูลิน น้ำตาล และคอเลสเตอรอล รวมทั้งไม่มีผลต่อเอนไซม์ aminotransferases และ phosphatases ในเลือดของหนู (27)

          เมื่อให้หนูแรทกินอาหารที่มีพริกไทยดำผสมอยู่ 0.02-0.5% ไม่พบผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย แต่เมื่อในขนาดที่สูง คือ 2% และ 5% ของอาหาร จะทำให้หนูกินอาหารลดลง ขณะที่เมื่อให้สารพิเพอรีนขนาด 0.05% ของอาหาร จะมีผลเพิ่มการกินอาหารของหนู พริกไทยดำที่ขนาด 2% และ 5% และสารพิเพอรีน ขนาด 0.05% ของอาหาร มีผลทำให้น้ำหนักของตับเพิ่มขึ้นซึ่งเนื่องมาจากมีปริมาณไขมันสูงขึ้น แต่พริกไทยดำที่ขนาด 0.02 หรือ 0.15% ซึ่งเทียบเท่ากับขนาดที่ให้ในคน หรือสูงกว่า 10 เท่า ไม่มีผลต่อน้ำหนักตับและระดับไขมันในตับ (28)

          การศึกษาพิษกึ่งเรื้อรังโดยป้อนสารสกัดน้ำจากผลแห้งของพริกไทย ขนาด 0.3, 0.6 และ 1.2 ก./กก.นน.ตัว/วัน เป็นเวลา 90 วัน ไม่พบความผิดปกติทางอาการ พฤติกรรมและสุขภาพ ค่าทางโลหิตวิทยา ค่าเคมีคลินิกของเลือด และลักษณะทางจุลกายวิภาคของอวัยวะภายในของหนูแรท (24)

      7.2 ฤทธิ์ระคายเคืองต่อผิวหนัง

          น้ำมันหอมระเหยจากเมล็ดพริกไทยไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังของคน หนูเม้าส์ และหมู แต่มีผลต่อผิวหนังของกระต่าย (4)

     7.3 ฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์

          สารสกัดน้ำร้อนและเมทานอลจากผล ความเข้มข้น 50 มก./แผ่น (29) สารสกัด 95% เอทานอลจากผล ความเข้มข้น 1-100 มคก./จานเพาะเชื้อ (25, 30) และความเข้มข้น 10 มก./จานเพาะเชื้อ (31) สารสกัดคลอโรฟอร์ม:เมทานอล (2:1) จากผล ความเข้มข้น 100 มก./จานเพาะเชื้อ (32) สารสกัดเฮกเซน ความเข้มข้น 10 มก./จานเพาะเชื้อ (33) ไม่ทำให้เกิดการก่อกลายพันธุ์ในแบคทีเรีย Salmonella typhimurium TA 98 และ TA 100 ทั้งระบบที่ต้องการและไม่ต้องการเอนไซม์จากตับหนู แต่มีบางงาน วิจัยพบว่า สารสกัดน้ำร้อนและสารสกัดเมทานอล ความเข้มข้น 10 มก./จานเพาะเชื้อ มีผลก่อกลายพันธุ์ในเชื้อ Salmonella typhimurium TA98 และ TA100 (33)

          ผลพริกไทยแห้ง ไม่ระบุความเข้มข้น สารสกัดน้ำร้อนและสารสกัดน้ำจากผล ความเข้มข้น 0.5 มล./แผ่น ไม่มีผลก่อกลายพันธุ์ในแบคทีเรีย Bacillus subtilis สายพันธุ์ H-17 (REC+) และ M-45 (REC-) (34) สารสกัดน้ำจากผล ความเข้มข้น 100 มก./จานเพาะเชื้อ ไม่มีผลก่อกลายพันธุ์ในเซลล์ pig kidney LLC-PK-1 และ trophoblastic placenta (35)

       7.4 การทำปฏิกิริยากับยาอื่น

          สารพิเพอรีนในพริกไทยมีผลยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ cytochrome P 450  ที่ใช้เปลี่ยนสภาพยาหลายชนิด (36-40) ได้แก่ CYP1A1, CYP1A2, CYP2D6, CYP3A4, และ CYP2C9 ดังนั้นควรระมัดระวังการรับประทานพริกไทยซึ่งมีสารพิเพอรีนร่วมกับยาที่ถูกทำลายด้วยเอนไซม์เหล่านี้ เช่น propranolol (40), rifampicin (41), theophylline (40) และ phenytoin (42, 43) เป็นต้น เนื่องจากอาจทำให้ระดับยาในเลือดของยาเหล่านี้สูงขึ้น เวลาที่ยาอยู่ในร่างกายยาวนานขึ้น ส่งผลให้การออกฤทธิ์ของยานานขึ้น แต่ในขณะเดียวกันอาจมีผลให้เกิดอาการข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์จากการที่ยาอยู่ในร่างกายนานขึ้นได้เช่นกัน

    

8.   วิธีการใช้

      8.1 ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สาธารณสุขมูลฐาน)

           นำผลแก่แห้ง บดเป็นผงและปั้นเป็นลูกกลอน รับประทานครั้งละ 0.5-1 กรัม (ประมาณ 15-20 ผล) หรือใช้วิธีบดเป็นผงและชงรับประทานได้

     8.2 ยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ

          ไม่มี

 

เอกสารอ้างอิง

1.      Craib WG.  XVI Contribution of the Flora of Siam XXVI.  Kew Bull 1922:174.

2.      Hewitt EJ, Konigbacher KS, RitterJJ.  Composition of volatile oil of black pepper, Piper nigrum.  J Agr Food Chem 1957;5(1):53-5.(2)

3.      Sumathikutty MA, Rajaraman K, Narayanan CS, Mathew AG.  Comparison of chemical composition of pepper and pepper leaf oil.  Indian Perfum 1981;25(3/4):15-9.

4.      Opdyke DLJ.  Monographs on fragrance raw materials.  Black pepper oil.  Food Cosmet Toxicol 1978;16:651-2.

5.      Verzele M.  Essential oil.  J Chromatogr Sci 1976;14:296-8.

6.      Ikeda R, Stanley WL, Vannier SH, Spitler EM.  The monoterpene hydrocarbon composition of some essential oils.  J Food Sci 1962;27:455-8.

7.      Putalun W, De-Eknamkul W.  Study on pepper oil content and composition of Sri lankan and Sarawak cultivars grown in Thailand.  Thai J Pharm Sci 1992;16(2):151-63.  

8.      Rhee SK.  Colorimetric determination of piperine using p-nitrophenyl diazonium fluoborate in pepper (Piper nigrum).  Han'guk Sikp'um Kwahakhoe Chi 1974;6(2):56-60.

9.      Li HS, Lu GB, Zhou JY.  Determination of piperine in hujiao (Piper nigrum) by HPLC.  Chung Ts'ao Yao 1989;20(7):300-1.

10.  Kostrzewa E, Karwowska K.  Characteristic of flavor and aroma of natural extracts from black pepper.  Pr Inst Lab Badaw Przem Spozyw 1977;27:93-102.

11.  Rathnawathie M, Buckle KA.  Determination of piperine in pepper (Piper nigrum) using high-performance liquid chromatography.  J Chromatogr 1983;264(2):316-20.

12.  Jansz ER, Pathirana IC, Packiyasothy EV.  Determination of piperine in pepper (Piper nigrum L.).  J Natl Sci Counc Sri Lanka 1983;11(1):129-38.

13.  Grewe R, Freist W, Neumann H, Kersten S.  Chemical constituents of black pepper.  Chem Ber 1970;103(12):3752-70.

14.  Miyakado M, Nakayama I, Ohno N, Yoshioka H.  Structure, chemistry and actions of the piperaceae amides: new insecticidal constituents isolated from the pepper plant.  Curr Themes Trop Sci 1983;2:369-82.

15.  Nakatani N, Inatani R.  Constituents of pepper. Part III.  Agr Biol Chem 1981;45(6):1473-6.

16.  Platel K, Srinivasan K.  Influence of dietary spices and their active principles on pancreatic digestive enzymes in albino rats.  Nahrung 2000;44(4): 42-6.

17.  Platel K, Srinivasan K.  Influence of dietary spices or their active principles on digestive enzymes of small intestinal mucosa in rats.  Int J Food Sci Nutr 1996;47:55-9.

18.  Platel K, Rao A, Saraswathi G, Srinivasan K.  Digestive stimulant action of three Indian spice mixes in experimental rats.  Nahrung 2002;46(6):394-8.

19.  Bhat GB, Chandrasekhara N.  Effect of black pepper and piperine on bile secretion and composition in rats.  Nahrung 1987;31:913-6.

20.  Vazquez-Olivencia W, Shah P, Pitchumoni CS.  The effect of red and black pepper on orocecal transit time.  J Am Coll Nutr 1992;11:228-31.

21.  Platel K, Srinivasan K.  Studies on the influence of dietary spices on food transit time in experimental rats.  Nutr Res 2001;21:1309-14.

22.  Bajad S, Bedi KL, Singla AK, Johri R K.  Piperine inhibits gastric emptying and gastrointes-tinal transit in rats and mice.  Planta Med 2001;67:176-9.

23.  Ononiwu IM, Ibeneme CE, Ebong OO.  Effects of piperine on gastric acid secretion in albino rats.  Afr J Med Sci 2002;31:293-5.

24.  Chunlaratthanaphorn S, Lertprasertsuke N, Srisawat U, Thuppia A, Ngamjariyawat A, Suwanlikhid N, et al.  Acute and subchronic toxicity study of the water extract from dried fruits of Piper nigrum L. in rats.  Songklanakarin J Sci Technol 2007;29(suppl. 1):109-24.

25.  Rattanakhot N, Toojinda P, Temjarean P, Sriwatanakul K, Aramphongphan A.  Toxicological evaluation of commercial Thai herbal preparations.  Thai J Pharmacol 2007;29(1):78-80.

26.  Chioma OO, Victor NO, Emeka GA.  Toxicological assessments of Piper nigrumon alloxan induced diabetic rats.  Am-Eurasian J Toxicol Sci 2014;6(2):30-4.

27.  Bhat BG, Chandrasekhara N.  Lack of adverse influence of black pepper, its oleoresin and piperine in the weanling rat.  J Food Saf 1986;7(4):215-23.

28.  Srinivasan MR, Satyanarayana MN.  Effect of black pepper (Piper nigrum Linn) and piperine on growth, blood constituents and organ weight in rats.  Nutr Rep Int 1981; 23(5):871-6.

29.  Yamamoto H, Mizutani T, Nomura H.  Studies on the mutagenicity of crude drug extracts. I.  Yakugaku Zasshi 1982;102(6):596-601. 

30.  นันทิยา รัตนคช อรทัย อร่ามพงษ์พันธ์ ปทุมรัตน์ ตู้จินดา ปัญญา เต็มเจริญ กำพล ศรีวัฒนกุล   อาพันธ์ชนิด เทพอวยพร.  การศึกษาความเป็นพิษในระดับจีนของสมุนไพรไทย.  การประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 31, นนทบุรี, 18-20 ต.ค. 2548.

31.  Mahmoud I, Alkofahi A, Abdelaziz A.  Mutagenic and toxic activities of several spices and some Jordanian medicinal plants.  Int J Pharmacog 1992;30(2):81-5.

32.  Rockwell P, Raw I.  A mutagenic screening of various herbs, spices, and food additives.  Nutr Cancer 1979;1:10-5.

33.  Higashimoto M, Purintrapiban J, Kataoka K, et al.  Mutagenicity and antimutagenicity of extracts of three spices and medicinal plant in Thailand.  Mutat Res 1993;303(3):135-42.

34.  Ungsurungsie M, Suthienkul O, Paovalo C.  Mutagenicity screening of popular Thai spices.  Food Chem Toxicol 1982;20:527-30.

35.  Rockwell P, Raw I.  A mutagenic screening of various herbs, spices, and food additives.  Nutr Cancer 1979;1:10-5.

36.  Usia T, Iwata H, Hiratsuka A, Watabe T, Kadota S, Tezuka Y.  CYP3A4 and CYP2D6 inhibitory activities of Indonesian medicinal plants.  Phytomedicine 2006;13: 67-73.

37.  Subehan, Usia T, Iwata H, Kadota S, Tezuka Y.  Mechanism-based inhibition of CYP3A4 and CYP2D6 by Indonesian medicinal plants.  J Ethnopharmacol 2006;105:449-55.

38.  Kimura Y, Ito H, Hatano T.  Effects of mace and nutmeg on human cytochrome p450 3A4 and 2C9 activity.  Biol Pharm Bull 2010;33(12):1977-82.

39.  Harwansh RK, Mukherjee K, Bhadra S, Kar A, Bahadur S, Mitra A, Mukherjee PK.  CytochromeP450 inhibitory potential and RP-HPLC standardization of trikatu-A Rasayana from Indian Ayurveda.  J Ethnopharmacol 2014;153:674-81.

40.  Bano G, Raina RK, Zutshi U, et al. Effect of piperine on bioavailability and pharmaco-kinetics of propranolol and theophylline in healthy volunteers.  Eur J Clin Pharmacol 1991;41(6):615-7

41.  Zutshi RK, Singh R, Zutshi U, et al.  Influence of piperine on rifampicin blood levels in patients of pulmonary tuberculosis.  J Assoc Physicians India 1985;33:223-4.

42.  Velpandian T, Jasuja R, Bhardwaj RK, et al.  Piperine in food: interference in the pharmacokinetics of phenytoin.  Eur J Drug Metab Pharmacokinet 2001;26(4):241-7.

43.  Bano G, Amla V, Raina RK, et al.  The effect of piperine on pharmacokinetics of phenytoin in healthy volunteers.  Planta Med 1987;53(6):568-9.