มะขามป้อม




1.  ชื่อสมุนไพร           มะขามป้อม

          ชื่อวิทยาศาสตร์  Phyllanthus emblica  L.

          ชื่อวงศ์               EUPHORBIACEAE  

          ชื่อพ้อง               Emblica officinalis  Gaertn. 

          ชื่ออังกฤษ          Indian gooseberry, Emblic, Emblic myrobalan, Malacca tree, Myrobalan     

          ชื่อท้องถิ่น          กันโตด, กำทวด, มั่งลู่, สันยาส่า

2.  ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

             ไม้ยืนต้น สูง 8-20 เมตร ใบเดี่ยว เรียงสลับรูปขอบขนาน กว้าง 0.25-0.5 ซม. ยาว 0.8-1.2 ซม. ดอกช่อ ออกเป็นกระจุกที่ซอกใบ แยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน ดอกย่อยสีนวล ผลเป็นผลสด รูปกลม ผิวเรียบ มีเส้นพาดตายาว 6 เส้น เมล็ดกลม สีเขียวเข้ม (1)

3.  ส่วนที่ใช้เป็นยาและสรรพคุณ

            ผลสด มีรสเปรี้ยวอมฝาด เป็นยาบำรุง ทำให้สดชื่น แก้กระหายน้ำ แก้ไอ แก้หวัด กระตุ้นน้ำลาย ละลายเสมหะ ช่วยระบาย ขับปัสสาวะ แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้คอแห้ง (2)

          ผลแห้ง เป็นยาฝาดสมาน แก้ท้องเสีย (3)

4.  สารสำคัญที่เชื่อว่าเป็นสารออกฤทธิ์ หรือสารที่ใช้ประเมินคุณภาพของสมุนไพร

            ผลสดมีวิตามินซีสูง และมีสารแทนนิน ซึ่งช่วยป้องกันไม่ให้วิตามินซีสลายตัวโดยปฏิกิริยาออกซิเดชัน หรือชะลอให้เกิดช้าลง นอกจากนี้ยังพบสารชนิดอื่นๆ ได้แก่ trigalloylglucose, ellagic acid, corilagin, terchebin, phyllemblin, phyllemblic acid และ embliccol ซึ่งสารเหล่านี้มีฤทธิ์ต้านจุลชีพต่างๆ และต้านอนุมูลอิสระ (3)

5.  ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา

            5.1 ฤทธิ์แก้ไอ

            การป้อนสารสกัดเอทานอลจากผลมะขามป้อมขนาด 50 และ 200 มก./กก. ให้แก่แมวที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดอาการไอ ด้วยการทำให้ระคายเคืองบริเวณเยื่อบุทางเดินหายใจและหลอดลมพบว่า ที่ขนาด 200 มก./กก. มีฤทธิ์แก้ไอ โดยลดจำนวนครั้ง ความถี่ และความแรงของการไอได้ และเมื่อเปรียบเทียบผลกับยาแก้ไอแผนปัจจุบันพบว่า สารสกัดเอทานอลจากผลมะขามป้อมขนาด 50 มก./กก. และ 200 มก./กก. ให้ผลยับยั้งการไอได้คิดเป็น 27.3% และ 38.1% ตามลำดับ ส่วนยาแก้ไอ codeine ขนาด 10 มก./กก. และ dropropizine ขนาด 100 มก./กก. เมื่อฉีดเข้าช่องท้องแมว จะให้ผลในการยับยั้งการไอคิดเป็น 62% และ 28.3% ตามลำดับ (4)

         

5.2 ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

            สารสกัดแอลกอฮอล์ 80% จากผลมะขามป้อม มีฤทธิ์ต้านการเกิดอนุมูลอิสระ โดยมีค่า median effective dose (ED50) เท่ากับ 1.5 มคก./มล. ซึ่งมีฤทธิ์ใกล้เคียงกับวิตามินซีที่มีค่า ED50 เท่ากับ 1.4 มคก./มล. และออกฤทธิ์ดีกว่าสารสกัดแอลกอฮอล์ 40% (5) และสารสกัดน้ำจากผลมะขามป้อมแห้งมีปริมาณสารโพลีฟีนอลสูงสุด (total phenolic) เท่ากับ 34.22±1.74 กรัมสมมูลของกรดแกลลิก/ปริมาณสารสกัด 100 กรัม (g gallic acid/100g extract) และมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระเมื่อทดสอบฤทธิ์ด้วยวิธี 1,1-diphenyl-2-picrylhydrazyl (DPPH) , ABTS radical scavenging และ FRAP assay (6)

        สารสกัดน้ำและสารสกัดเมทานอลจากผลมะขามป้อมมีฤทธิ์ต้านการเกิดอนุมูลอิสระเมื่อทดสอบด้วยวิธี DPPH โดยมีผลยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระคิดเป็น 85.32 และ 86.36% ตามลำดับ และเมื่อวิเคราะห์สารสำคัญที่พบในสารสกัดทั้ง 2 ชนิดพบว่า ทั้งสารสกัดน้ำและสารสกัดเมทานอลจากผลมะขามป้อมพบสารกลุ่มแทนนิน, ซาโปนิน, ฟีนอลิก และคาร์โบไฮเดรต ในขณะที่ สารกลุ่มแอลคาลอยด์ และฟลาโวนอยด์จะพบในสารสกัดเมทานอล และสารกลุ่มไกลโคไซด์จะพบในสารสกัดน้ำจากผลเท่านั้น (7)

          การป้อนสารสกัดน้ำจากผลมะขามป้อมขนาดวันละ 125, 250 และ 500 มก./กก. ให้แก่หนูขาว นานติดต่อกัน 5 วัน ก่อนเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะไตเสียหายแบบเฉียบพลันด้วยการฉีดสารทึบรังสี iopromide พบว่า การป้อนขนาดวันละ 250 และ 500 มก./กก. มีผลกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการต้านอนุมูลอิสระได้แก่ superoxide dismutase (SOD), และ catalase (CAT) และลดการเกิด malondyaldehyde (MDA) ซึ่งเป็นสารที่เกิดจากการออกซิเดชันของไขมัน (lipid peroxidation) อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับหนูขาวที่ได้รับการฉีดสารทึบรังสีเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ยังมีผลช่วยยับยั้งความเสียหายของไต โดยมีผลลดค่าตัวชี้วัดซึ่งบ่งบอกถึงภาวะไตเสียหายได้แก่ ค่า serum creatinine และ blood urea nitrogen (BUN) แสดงให้เห็นว่า สารสกัดน้ำจากผลมะขามป้อมมีฤทธิ์ช่วยยับยั้งการเกิดความเสียหายของไตจากการฉีดสารทึบรังสี โดยมีกลไกผ่านกระบวนการต้านอนุมูลอิสระ (8) และในการศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของมะขามป้อม ด้วยการป้อนสารสกัดบิวทานอลจากผลมะขามขนาด 100 มก./กก. ให้กับหนูขาวที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดแผลด้วย indomethacin (20 มก./กก.) เป็นเวลาติดต่อกัน 10 วัน พบว่าสามารถลดระดับ malondialdehyde (MDA) ซึ่งเป็นสารที่เกิดจากการออกซิเดชันของไขมัน (lipid peroxidation) ได้ (9)

5.2 ฤทธิ์ต้านการอักเสบ

การศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบของมะขามป้อม ในหนูขาวที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะอักเสบและบวมด้วยการฉีดสาร carrageenan เข้าที่อุ้งเท้า โดยก่อนการฉีด carrageenan 1 ชั่วโมง ได้ทำการป้อนสารสกัดเมทานอลจากผลมะขามป้อมขนาด 200 และ 400 มก./กก. เปรียบเทียบกับการป้อนยาแก้อักเสบ diclofenac ขนาด 10 มก./กก. พบว่า การป้อนสารสกัดเมทานอลจากผลมะขามป้อมทั้งสองขนาดมีผลยับยั้งอาการบวมของอุ้งเท้าหนูโดยขึ้นกับขนาดที่ให้ (dose-dependent) ภายหลังจากฉีด carrageenan 4 ชั่วโมง ซึ่งหนูขาวกลุ่มที่ได้รับสารสกัดเมทานอลจากผลมะขามป้อมขนาด 400 มก./กก. สามารถยับยั้งอาการบวมของอุ้งเท้าหนูได้คิดเป็น 72.71% เมื่อเทียบกับหนูที่ถูกฉีดสาร carrageenan เพียงอย่างเดียว ในขณะที่หนูขาว กลุ่มที่ได้รับการป้อนยา diclofenac สามารถยับยั้งอาการบวมของอุ้งเท้าหนูได้เพียง 61.57% นอกจากนี้ การป้อนสารสกัดเมทานอลจากผลมะขามป้อมยังมีฤทธิ์ยับยั้งการแสดงออกของโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบได้แก่ interleukin-1β และ tumor necrosing factor-α (10) เช่นเดียวกับการทดลองป้อนสารสกัดน้ำจากผลมะขามป้อมขนาด 150, 300 และ 600  มก./กก. ให้แก่หนูขาวที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะอักเสบเฉียบพลันด้วยวิธีการฉีด carrageenan เข้าอุ้งเท้า ซึ่งพบว่ามีฤทธิ์ต้านการอักเสบและสามารถยับยั้งอาการบวมของอุ้งเท้าหนูได้ โดยขึ้นกับขนาดที่ให้ (11)

          5.3 ฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน

            การศึกษาฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกันของมะขามป้อมด้วยวิธีการศึกษาในหลอดทดลอง (in vitro) พบว่า สารสกัดเอทานอล 90% จากผลมะขามป้อมขนาด 10 มค.ก./มล. - 1 มก./มล. มีฤทธิ์กระตุ้นการแบ่งตัวของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ (lymphocyte) และเพิ่มการสร้าง interleukin-2 และ interferon-γ ของเซลล์ลิมโฟซัยต์จากการถูกกดภูมิคุ้มกันด้วยโครเมี่ยม (12)

          การป้อนสารสกัดน้ำจากผลมะขามป้อมขนาด 20 มก./กก. ให้กับหนูถีบจักรที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง Dalton’s lymphoma ascites (DLA) พบว่า มีผลเพิ่มจำนวนและความสามารถของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด NK-Cell (Natural killer cell) เพิ่มกลไกในการกำจัดสิ่งแปลกปลอมของเม็ดเลือดขาวแบบ ADCC (Antibody dependent cellular cytotoxicity) และเพิ่มระยะเวลาการมีชีวิตของหนูให้ยาวนานขึ้นคิดเป็น 35% (13)

          5.4 ฤทธิ์ต้านจุลชีพ

          การศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียของมะขามป้อมด้วยวิธี agar well diffusion assay พบว่า สารสกัดน้ำและสารสกัดเอทานอล 80% จากผล มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus, S. epidermidis, Streptococcus pyogenes และ Propionibacterium acnes โดยสารสกัดน้ำมีค่า inhibition zone เท่ากับ 1.20±0.06, 1.20±0.06, 1.00±0.00 และ 1.30±0.06 ซม. ตามลำดับ และสารสกัดเอทานอล 80% มีค่า inhibition zone เท่ากับ 1.68±0.06, 1.59±0.05, 1.23±0.12 และ 1.68±0.06 ซม. ตามลำดับ (14)

          ศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดกลิ่นปากและโรคภายในช่องปากของสารสกัดจากผลมะขามป้อมชนิดต่างๆ ได้แก่ สารสกัดน้ำ เอทานอล และเมทานอล ด้วยวิธี disk diffusion testing พบว่าสารสกัดทั้ง 3 ชนิด มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย S. aureus, S. mutant และ Escherichia coli (15)

          สารสกัดเอทานอล 95% จากผลมะขามป้อมขนาดความเข้มข้น 75-300 มก./มล. มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อยีสต์ Candida albicans เมื่อทดสอบด้วยวิธี adhesion assay บนเซลล์เยื่อบุข้างแก้มของมนุษย์ (human buccal epithelial cells) และบนวัสดุอะคริลิคสำหรับทำฟันปลอม (denture acrylic) (16)

 

 

6. การศึกษาทางคลินิก

            การศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของมะขามป้อมในผู้ป่วยที่มีภาวะการคั่งของสารยูเรียในเลือด (uremia) จำนวน 17 คน โดยให้ผู้ป่วยรับประทานยาเม็ดสารสกัดมะขามป้อมขนาด 300 มก. (ประกอบด้วยสารสกัดมะขามป้อม 50% และ dextrin 50%) วันละ 3 ครั้ง นานติดต่อกัน 4 เดือน ผลการศึกษาพบว่า การรับประทานยาเม็ดสารสกัดมะขามป้อมมีผลลดตัวชี้วัดถึงการเกิดอนุมูลอิสระในเลือดของผู้ป่วยคือ 8-iso-prostaglandin และมีผลเพิ่มค่า total antioxidant status ในเลือดของผู้ป่วยขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนการรับประทานยาเม็ดสารสกัดมะขามป้อม นอกจากนี้ การรับประทานยาเม็ดสารสกัดมะขามป้อมในขนาดและระยะเวลาดังกล่าวไม่ส่งผลต่อการทำงานของตับ (glutamic oxaloacetic transaminase และ glutamic pyruvic transaminase) และไต (creatinine, blood urea nitrogen และ uric acid) รวมถึงค่าทางชีวเคมีอื่นๆในเลือด แสดงให้เห็นว่ายาเม็ดสารสกัดมะขามป้อมมีฤทธิ์ต้านการเกิดอนุมูลอิสระในเลือดของผู้ป่วย uremia และมีความปลอดภัย (17)

การศึกษาทางคลินิกในผู้ป่วยโรคด่างขาวจำนวน 130 คน โดยแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 65 คน กลุ่มแรกให้รับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนประกอบของสารสกัดผลมะขามป้อม 100 มก. วิตามินอี 10 มก. และแคโรทีนอยด์ 4.7 มก. วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 6 เดือน กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มควบคุม ซึ่งทดสอบควบคู่กับการรักษาด้วยการใช้ยาภายนอกหรือการรักษาด้วยแสง (phototherapy) ผลการทดสอบพบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่ของกลุ่มที่รับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมะขามป้อมมีเม็ดสีเพิ่มขึ้นเล็กน้อยบริเวณศีรษะ คอ และลำตัว เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมซึ่งพบการอักเสบและมีรอยโรคเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมีอาการของโรคและเกิดผื่นแดง (erythema) มากขึ้น ในขณะที่กลุ่มที่รับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมะขามป้อมแสดงถึงการควบคุมอาการของโรคได้ดีกว่า จากการผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าการใช้มะขามป้อม วิตามินอี และแคโรทีนอยด์ ซึ่งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในผู้ป่วยโรคด่างขาวควบคู่กับการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ส่งผลช่วยเสริมการรักษาให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น (18)

7. อาการข้างเคียง/ข้อควรระวัง

            การศึกษาเกี่ยวกับการเกิดอันตรกิริยาต่อยาแผนปัจจุบัน (drug interaction) พบว่าสารสกัดน้ำจากผลมะขามป้อมมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ cytochrome P450 หลายชนิดได้แก่ CYP1A2, CYP2C9, CYP2D6, CYP2E1 และ CYP3A4 (19) และมีผลเสริมฤทธิ์ยารักษาโรคเบาหวาน metformin (20) และยาต้านเกล็ดเลือด clopidogel และ ecosprin (21) ดังนั้น ผู้ที่รับประทานยากลุ่มดังกล่าวเป็นประจำควรใช้ด้วยความระมัดระวัง

8. ความเป็นพิษทั่วไปและต่อระบบสืบพันธุ์

            การศึกษาความเป็นพิษของมะขามป้อมด้วยการการป้อนสารสกัดเอทานอลและน้ำ (1:1) จากผลมะขามป้อมให้แก่หนูถีบจักรขนาด 10 ก./กก. พบว่า ไม่ก่อให้เกิดอาการเป็นพิษ และเมื่อฉีดเข้าใต้ผิวหนังพบว่าขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายเป็นจำนวนครึ่งหนึ่ง (LD50) มีค่าเท่ากับ 4.8 ก./กก. (22)

          การศึกษาความเป็นพิษแบบเฉียบพลัน ด้วยการป้อนสารสกัดน้ำจากผลมะขามป้อมขนาด 5,000 มก./กก. ให้แก่หนูขาวเพียงครั้งเดียว พบว่าไม่ทำให้สัตว์ทดลองตาย และในการศึกษาความเป็นพิษแบบเรื้อรังด้วยการป้อนสารสกัดน้ำจากผลมะขามป้อมขนาดวันละ 300, 600 และ 1,200 มก./กก. ให้แก่หนูขาวพบว่า ไม่ก่อให้เกิดอาการเป็นพิษต่อสัตว์ทดลอง (11)

9. วิธีการใช้

            9.1 ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สาธารณสุขมูลฐาน)

          มะขามป้อมใช้รักษาอาการไอ ช่วยขับเสมหะ โดยใช้เนื้อผลแก่สด ครั้งละประมาณ 2-3 ผล โขลกพอแหลก แทรกเกลือเล็กน้อย อมหรือเคี้ยว รับประทานวันละ 3-4 ครั้ง (2)

           9.2 ยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ

          ยาแก้ไอผสมมะขามป้อม (ยาน้ำ) (23)

          สูตรตำรับที่ 1 ในยา 100 มล. ประกอบด้วย

          สารสกัดน้ำมะขามป้อมเข้มข้น (ความเข้มข้น 40%) 60 มล. สารสกัดใบเสนียด (ความเข้มข้น 10%) 10 มล. กลีเซอรีน 5 มล. สารสกัดรากชะเอมเทศ 0.45 มล. เกลือแกง 0.5 กรัม เกล็ดสะระแหน่ 0.01 มก.

          สูตรตำรับที่ 2 ในยา 100 มล. ประกอบด้วย

          สารสกัดน้ำมะขามป้อมเข้มข้น (ความเข้มข้น 25%) 30 มล. มะนาวดองแห้ง 8 มก. สารสกัดรากชะเอมเทศ 5 มล. ผิวส้มจีน 3.3 มก. บ๊วย 3 มก. เนื้อลูกสมอพิเภก 3 มก. เนื้อลูกสมอไทย 1 มก. หล่อฮังก๊วย 2 มก. เกล็ดสะระแหน่ 0.08 มก. น้ำตาลทรายแดง 40 มก.

          ข้อบ่งใช้                   บรรเทาอาการไอขับเสมหะ

          ขนาดและวิธีใช้          จิบเมื่อมีอาการไอทุก 4 ชั่วโมง

          ข้อห้ามใช้       ผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้

          ข้อควรระวัง    ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยที่ท้องเสียง่าย เนื่องจากมะขามป้อมมีฤทธิ์เป็นยาระบาย

 

 

 

เอกสารอ้างอิง

1. นันทวัน บุณยะประภัศร, อรนุช โชคชัยเจริญพร, บรรณาธิการ.  สมุนไพรไม้พิ้นบ้าน เล่ม 3. กรุงเทพฯ: บริษัท ประชาชน จำกัด, 2541: 823 หน้า.

2. สำนักงานคณะกรรมการการสาธารณสุขมูลฐาน กระทรวงสาธารณสุข. สมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐาน. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก; 2541: 176 หน้า.

3. รุ่งระวี เต็มศิริกุล. องค์ความรู้จากงานวิจัยสมุนไพรไทย 10 ชนิด: กระชายดำ กวาวเครือขาว ขมิ้นชัน ขิง บัวบก พริกไทย ไพล ฟ้าทะลาย มะขามป้อม มะระขี้นก. กรุงเทพฯ: บริษัท 21 เซนจูรี่ จำกัด; 2550: 240 หน้า.

3. สุธรรม อารีกุล, จำรัส อินทร, สุวรรณ ทาเขียว, อ่องเต็ง นันทแก้ว. องค์ความรู้เรื่องพืชป่าที่ใช้ประโยชน์ทางภาคเหนือของประเทศไทย เล่ม 3. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการหลวง บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พลับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2551: 886 หน้า.

4. Nosál'ová G, Mokrý J, Hassan KM. Antitussive activity of the fruit extract of Emblica officinalis Gaertn. (Euphorbiaceae). Phytomedicine. 2003; 10(6-7): 583-9.

5. นพมาศ สุนทรเจริญนนท์, ทรงศรี แก้วสุวรรณ. ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสมุนไพรไทยและไวน์สมุนไพร.  วารสารสมุนไพร. 2544: 8(2): 8-13.

6. Charoenteerrboon J, Ngamkitidechakul C, Soonthornchareonnon N, Jaijoy K, Sireeratawong S. Antioxidant activities of the standardized water extract from fruit of Phyllanthus embilica Linn. Sonklanakarin J Sci Techmol. 2010; 32(6): 599-604.

7. Badoni H, Sharma P, Waheed SM, Singh S. Phytochemical analyses and evaluation of antioxidant, antibacterial and toxic properties of Emblica officinalis and Terminalia bellirica fruit extracts. Asia J Pharm Cli Res. 2016; 9(6): 96-102.

8. Tasanarong A, Kongkham S, Itharat A. Antioxidant effect of Phyllanthus emblica extract prevents contrast-induced acute kidney injury. BMC Complement Altern Med. 2014; 14: 138.

9. Bandyopadhyay SK, Pakrashi SC, Pakrashi A. The role of antioxidant acitivity of Phyllanthus emblica fruits on prevention from indomethacin induced gastric ulcer. J Ethnopharmacol.  2000; 70: 171-6.

10. Middha SK, Goyal AK, Lokesh P, Yardi V, Mojamdar L, Keni DS, et al. Toxicity evaluation of Emblica officinalis fruit extract and its anti-inflammatory and free redical scavenging properties. Pharmacogn Mag. 2015; 11(suppl 3): S427-33.

11. Jaijoy K, Soonthornchareonnon N, Panthong A, Sireeratawong S. Anti-inflammatory activity and toxicity of the standardised water extract of Phyllanthus emblica L. Planta Med. 2010; 76: DOI: 10.1055/s-0030-1264425.

12. Sai Ram M, Neetu D, Yogesh B, et al. Cyto-protective and immunomodulating properties of Amla (Emblica officinalis) on lymphocytes: An in-vitro study. J Ethnopharmacol. 2002; 81: 5-10.

13. Suresh K, Vasudevan DM. Augmentation of murine natural killer cell and antibody dependent cellular cytotoxicity activities by Phyllanthus emblica, a new immunomodulator.  J Ethnopharmacol. 1994; 44: 55-60.

14. Rattanasena P. Antioxidant and antibacterial activities of vegetables and fruits commonly consumed in Thailand. Pak J Biol Sci. 2012; 15(18): 877-82.  

15. Asimuddin M, Bhumika R, Kaiser J, Chandrakanth R. Estimation of antibacterial activity of plants extracts from Phyllanthus emblica, Terminalia chebula and Eucalyptus globulus against oral pathogens. Int J Dent & Oral Heal. 2017; 3(9): 100-4.

16. Thaweboon B, Thaweboon S. Effect of Phyllanthus emblica Linn. on Candida adhesion to oral epithelium and denture acrylic. Asian Pac J Trop Med. 2011; 4(1): 41-5.

17. Chen TS, Liou SY, Chang YL. Supplementation of Emblica officinalis (Amla) extract reduces oxidative stress in uremic patients. Am J Chin Med. 2009; 37(1): 19-25.

18. Colucci R, Dragoni F, Conti R, Pisaneschi L, Lazzeri L, Moretti S. Evaluation of an oral supplement containing Phyllanthus emblica fruit extracts, vitamin E, and carotenoids in vitiligo treatment. Dermatol Ther. 2015; 28(1): 17-21.

19. Anannarukan N, Niwattisaiwong N, Warisnoicharoen W, Winitthana T, Pramyothin P, Chaichantipyuth C, et al. Inhibition of human cytochrome P450 in vitro by Phyllanthus amarus and Phyllanthus emblica aqueous extract. Thai J Pharm Sci. 2012; 36: 135-43.

20. Sakthivel K, Senthamaria R, Karpagam Kumara Sundari S, Rajesh C. Pharmacodynamic drug interaction of metformin with Amla (Emblica Officnalis) in rats. Res J Pharm Biol Chem Sci. 2013; 4(1): 1030-3.

21. Fatima N, Pingali U, Muralidhar N. Study of pharmacodynamic interaction of Phyllanthus emblica extract with clopidogrel and ecosprin in patients with type II diabetes mellitus. Phytomedicine. 2014; 21(5): 579-85.

22. Mokkhasmit M, Swatdimongkol K, Satrawaha P.  Study on toxicity of Thai medicinal plants.  Bull Dept Med Sci. 1971; 12(2/4): 36-65.

23. สำนักยา, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. บัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2561 [อินเตอร์เน็ต]. กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชกรสาธารณสุข; 2561 [เข้าถึงเมื่อ 10 ก.ค. 2561]. เข้าถึงได้จาก https://wwwnno.moph.go.th/kbsnan/?page_id=740