สมุนไพรที่ใช้แก้ไข้

 

                อาการทางคลินิกของผู้ป่วยโรคเอดส์เกิดขึ้นได้หลายระบบและหลายอวัยวะ แต่อาการทางคลินิกที่พบได้บ่อยๆ อาการหนึ่งคือ อาการไข้เรื้อรัง ซึ่งเป็นอาการแสดงที่พบในผู้ติดเชื้อในระยะ acute HIV infection (1) ซึ่งในระยะนี้นอกจากอาการไข้แล้วยังพบ อาการอ่อนเพลีย  เหงื่อออกมาก เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน อุจจาระร่วง ต่อมน้ำเหลืองโต และคออักเสบ สำหรับอาการไข้ ผู้ป่วยจะมีไข้เพียงอย่างเดียว เป็นๆ หายๆ ติดต่อกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ภาวะนี้อาจมีสาเหตุจากการติดเชื้อชนิดต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ หรือถ้าไม่ใช่โรคติดเชื้อก็เป็นไข้จาก lymphoma หรือไข้จากยา (drug fever) (2) การหาสาเหตุของไข้เริ่มจากการซักประวัติ การตรวจร่างกาย การตรวจผิวหนังอย่างละเอียด เพื่อหาระบบหรืออวัยวะที่มีความผิดปกติซึ่งจะสามารถนำมาสู่สาเหตุของไข้ ตัวอย่างเช่น พบต่อมน้ำเหลืองโตก็อาจมีสาเหตุจากวัณโรค พบรอยโรคที่ผิวหนังก็อาจเป็น penicilliosis เป็นต้น การตรวจนับเม็ดเลือดแดงและขาว (complete blood count, CBC) การตรวจปัสสาวะและการตรวจหาเอนไซม์ของตับอาจช่วยให้ข้อมูลเบื้องต้น จากนั้นให้ถ่ายภาพรังสีปอด ซึ่งถ้าพบความผิดปกติให้ทำการตรวจค้นต่อไปในระบบการหายใจ กรณีที่ไม่พบสิ่งผิดปกติใดๆ และไม่มีอาการทางระบบประสาท (focal neurological sign) แต่ตรวจซีรั่มพบแอนติเจนต่อ Cryptococcus ให้ผลบวก ตามด้วยการเจาะหลังตรวจน้ำไขสันหลังจะช่วยในการวินิจฉัย Cryptococcal fungemia หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบจาก Cryptococcus ได้

                ถ้ายังตรวจไม่พบสาเหตุของไข้หรือขณะรอผลตรวจ ควรให้การรักษาแบบ empirical โดยให้ clotrimazole 2 เม็ด วันละ 2 ครั้ง หรือ ofloxacin ขนาดเม็ดละ 100 มก. รับประทานครั้งละ 2 เม็ด วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 2 สัปดาห์ เพื่อรักษา salmonellosis ถ้ายังไม่ดีขึ้นอีก ให้ทำการสืบค้นเพิ่มเติม ซึ่งได้แก่การเพาะเชื้อต่างๆ การเจาะดูดไขกระดูก (bone marrow aspiration) และการตรวจชิ้นเนื้อตับ (liver biopsy) ต่อไป  สำหรับผู้ป่วยเอดส์ในระยะลุกลาม advance โดยเฉพาะผู้ที่มี CD4 น้อยกว่า 50 เซลล์/ลบ.มม. มักมีการติดเชื้อ Mycobacterium avium complex ผู้ป่วยจะมีไข้เรื้อรัง ผอมลง (wasting) อุจจาระร่วงแบบ watery ปวดท้อง การวินิจฉัยได้จากการเพาะเชื้อจากเลือดโดยต้องใช้อาหารเลี้ยงเชื้อพิเศษ อาหารเลี้ยงเชื้อชนิดนี้สามารถเพาะเชื้อ Mycobacterium ทุกชนิด ขั้นตอนของการวินิจฉัยไข้เรื้อรังนี้ดูได้จากแผนภูมิที่ 1 (2) 

นอกจากนี้ยาที่ใช้รักษาอาการไข้ ได้แก่ paracetamol 325 มก. สำหรับเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป 1 เม็ด ทุก 6-8 ชั่วโมง ขนาด 500 มก. สำหรับผู้ใหญ่ 1-2 เม็ด ทุก 4-6 ชั่งโมง หากใช้ติดต่อกัน 5 วันอาการไม่ดีขึ้นต้องไปพบแพทย์ ห้ามใช้ในคนโรคตับ  ไม่ควรรับประทานยาเกิน 8 เม็ดต่อวัน  Aspirin เป็นยาลดไข้อีกชนิดหนึ่งที่ใช้ได้ในผู้ใหญ่ โดยใช้ 300 มก. ทุก 4-6 ชั่วโมง แต่ยานี้อาจทำให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหาร ดังนั้นควรรับประทานหลังอาหารทันที และดื่มน้ำตามมากๆ ห้ามใช้ในกรณีผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร หรือผู้ที่มีเลือดออกง่าย สำหรับ ibuprofen 200 มก.หรือ 400 มก. รับประทาน 1  เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง ก็สามารถลดไข้ในผู้ใหญ่ได้แต่ยานี้อาจทำให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหารเช่นกัน จึงควรรับประทานยาหลังอาหารทันที ควรระวังการใช้ยาทั้ง 3 ชนิดในคนไข้ที่เป็นโรคตับ และไต  สำหรับผู้ที่เป็นโรคหืดควรระวังการใช้ aspirin และ ibuprofen

 

ข้อควรปฏิบัติ

                1. ควรดื่มน้ำตามมากๆเพื่อระบายความร้อนในร่างกาย

2. เช็ดตัวบ่อยๆเพื่อลดไข้โดยใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวหรือวางผ้าตามข้อพับต่างๆและเช็ดเข้าหาตัว

                3. สวมเสื้อผ้าบางๆเท่าที่จำเป็น อยู่ในที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์ มีลมถ่ายเท

                4. ไม่ควรดื่มน้ำเย็น หรืออาหารเย็น เช่น น้ำแข็ง ไอศกรีม เป็นต้น

                5. ไม่ควรรับประทานของทอด ของมัน

                6. จิบน้ำอุ่นบ่อยๆ วันละไม่น้อยกว่า 5 แก้ว

                7. ไม่ควรอาบน้ำเย็น หรืออาบน้ำในเวลาดึก

 

อาการที่ควรพบแพทย์

                1. มีไข้สูงมาก หรือไข้สูงร่วมกับชีพจรเต้นเร็ว

                2. มีไข้สูงมากเป็นเวลานานเกิน 10 วัน

                3. มีไข้ร่วมกับอาการไอและน้ำหนักตัวลด (ไอมากกว่า 2 สัปดาห์)

                4. มีไข้ร่วมกับอาการคอแข็ง ปวดศีรษะมาก สับสน ไม่รู้สึกตัว ชัก (3)

 

เอกสารอ้างอิง

1.       พิไลพันธ์ พุธวัฒนะ.  เอชไอวีและจุลชีพฉวยโอกาส.  กรุงเทพฯ:บริษัทอักษรสมัย, 2541: 504 หน้า.

2.       นลินี อัศวโภคี สุรภี เทียนกริม สมบัติ ลีลาสุภาศรี.  โรคติดเชื้อที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญ. กรุงเทพฯ:บริษัทโฮลิสติก พับลิชชิ่ง จำกัด, 2544:238 หน้า.

3.       http://www.aidsaccess.com.  Available access 14/01/2003.