ฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็งและต้านการอักเสบของมะกล่ำตาหนู

ศึกษาฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็งและฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารกลุ่ม isoflavanquinone จำนวน 11 ชนิด (abruquinones A, E, B, F, I, D, G, M, N, O และ P) ที่แยกได้จากส่วนรากของมะกล่ำตาหนู (Abrus precatorius L.) โดยนำสารทั้ง 11 ชนิดไปทดสอบฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็งในช่องปากชนิด CAL-27, เซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ชนิด Caco-2 และเซลล์มะเร็งปอดชนิด NCI-H460 ด้วยวิธี MTT [3-(4, 5-dimethylthiazole-2-yl)-2, 5-diphenyl-tetrazolium bromide] colorimetric assay พบว่า สาร abruquinones M, N, A และ B มีฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเซลล์ CAL-27, Caco-2 และ NCI-H460 โดยมีค่าความเข้มข้นในการยับยั้งการเพิ่มจำนวนเซลล์ครึ่งหนึ่ง (IC50) อยู่ระหว่าง 1-33±4, 9-16±5 และ 1-31±5 ไมโครโมลาร์ ตามลำดับ โดย abruquinones B มีฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเซลล์ CAL-27 และ NCI-H460 ได้ดีที่สุด (ค่า IC50 เท่ากับ 1.27±0.07 และ 0.79±0.22 ไมโครโมลาร์ ตามลำดับ) ในขณะที่ abruquinones A มีฤทธิ์ยับยั้งยังการเพิ่มจำนวนของเซลล์ Caco-2 ได้ดีที่สุด (ค่า IC50 เท่ากับ 8.66±0.49 ไมโครโมลาร์) นอกจากนี้ abruquinones M, A และ B ยังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ โดยมีผลยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระในเซลล์ phagocytes และ polymorphonuclear cells และยับยั้งการสร้างโปรตีน tumor necrosis factor α (TNF-α) ในเซลล์ human monocytic leukemia (THP-1) โดยมีค่า IC50 น้อยกว่า 1 จากผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า สารกลุ่ม isoflavanquinone ที่แยกได้จากส่วนรากของมะกล่ำตาหนู มีฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็งชนิด CAL-27, Caco-2 และ NCI-H460 และต้านการอักเสบได้

Phytochemistry. 2021;187:112743.