ฤทธิ์เพิ่มการสังเคราะห์โปรตีนของกรด hydroxycitric จากส้มแขก

การศึกษาผลของกรด (-)-hydroxycitric (HCA) ซึ่งเป็นสารสำคัญในส้มแขก (Garcinia cambogia ) ต่อน้ำหนักตัวและปริมาณกรดอะมิโนในหนูแรท โดยแบ่งหนูออกเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มควบคุม และกลุ่มที่ได้รับอาหารเสริมด้วยสารสกัดจากส้มแขก 3 ขนาด ได้แก่ ขนาด 25, 50 และ 75 ก./กก. อาหาร ตามลำดับ (มีปริมาณของ HCA เท่ากับ 1000, 2000 และ 3000 มก./กก. อาหาร ตามลำดับ) เป็นเวลา 8 สัปดาห์ พบว่า HCA มีผลลดน้ำหนักตัวและเพิ่มอัตราการเปลี่ยนอาหารเป็นเนื้อ (feed conversion ratio) ของหนู ระดับของไกลโคเจนในตับและกล้ามเนื้อ และระดับของฮอร์โมน triiodothyronine (T3), thyroxine (T4) อินซูลิน และเลปตินในเลือดของหนูที่ได้รับ HCA จะเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ปริมาณของโปรตีนในตับและกล้ามเนื้อ ปริมาณของกรดอะมิโนในเลือดและตับ โดยเฉพาะกรดอะมิโนชนิดอะโรมาติก (aromatic amino acid) และกรดอะมิโนแบบกิ่ง (branched amino acid) สูงขึ้น แต่ปริมาณของกรดอะมิโนเหล่านี้ในกล้ามเนื้อจะลดลง แสดงว่า HCA ในส้มแขกมีผลลดน้ำหนักตัวของหนู โดยกระตุ้นให้เกิดการใช้พลังงานในแต่ละวันเพิ่มขึ้น (energy expenditure) ผ่านการควบคุมระดับฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ และเพิ่มการสังเคราะห์โปรตีนโดยเปลี่ยนแปลงกระบวนการเมตาบอสิสมของกรดอะมิโน

Phytother Res 2016;30:1316-29.